ปี 2563 : โครงการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของประเทศ

21/02/2023

นับตั้งแต่ปี 2547 สสน. ได้ร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ. เอไอเอส ติดตั้งสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ จำนวน 470 สถานี ภายในพื้นที่สถานีรับ-ส่งสัญญาณ Cell site ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ต่อมาในปี 2558 หลังจากการปรับปรุงประสิทธิภาพและการเปลี่ยนแปลงคลื่นความถี่ในการให้บริการจาก 2G เป็น 3G บมจ. เอไอเอส จำเป็นต้องยกเลิก และส่งคืน Cell sites บางส่วนตามสัญญาสัมปทาน ทาง สสน. จึงได้วางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อคงไว้ซึ่งการตรวจ ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ และรับส่งข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากสถานีโทรมาตรฯ ได้อย่างต่อเนื่อง จึงขอความอนุเคราะห์พื้นที่ติดตั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสถานที่ราชการใกล้เคียง เพื่อใช้เป็นสถานที่ติดตั้งสถานีโทรมาตรฯ ทดแทนสถานีเดิมรวมทั้งสิ้นจำนวน 470 สถานี โดยมีการดำเนินงานในปี 2558 จำนวน 12 สถานี ปี 2559 จำนวน 90 สถานี ปี 2560 จำนวน 197 สถานี และในปี 2561 จำนวน 171 สถานีเป็นที่เรียบร้อย และสามารถดำเนินการแล้วเสร็จเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม 1 ปี

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สสน. ได้ดำเนินการการปรับปรุงประสิทธิภาพและบำรุงรักษาสถานีโทรมาตรฯ จำนวน 947 สถานี ในจำนวนนี้มีการปรับปรุงเทคโนโลยีโทรมาตรฯ ที่เหลืออีกจำนวน 234 สถานี ให้เป็นรุ่นที่ 4.0 โดยปัจจุบัน สสน. มีสถานีโทรมาตรฯ รุ่นที่ 4.0 ในความดูแลรวมทั้งสิ้นจำนวน 950 สถานี จำแนกเป็นสถานีโทรมาตรตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ จำนวน 599 สถานี และสถานีโทรมาตรตรวจวัดระดับน้ำอัตโนมัติ จำนวน 351 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

โดยข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากสถานีโทรมาตรฯ ของ สสน. สามารถติดตาม และแสดงผลออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaiwater.net รวมถึงแอปพลิเคชันบนมือถือ ThaiWater รองรับทั้งระบบแอนดรอยด์ และไอโอเอส นอกจากนี้ยังมีบริการส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเหตุเมื่อตรวจพบข้อมูลปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดภัยธรรมชาติ เพื่อให้มีช่องทางที่หลากหลายในการติดตาม และสนับสนุนการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดภัยธรรมชาติอย่างทันเหตุการณ์

ภายหลังจาก สสน. ได้ดำเนินการโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพและบำรุงรักษาสถานีโทรมาตรฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แล้วเสร็จ ทำให้สถานีโทรมาตรฯ ทั้งหมด มีเสถียรภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น สามารถส่งข้อมูลเข้ามาประมวลผลยังส่วนกลางอย่างต่อเนื่องได้มากกว่าร้อยละ 92 ทำให้สามารถแจ้งเตือนผ่านข้อความสั้น (SMS) ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตาม-เฝ้าระวัง ได้อย่างถูกต้องมากกว่าร้อยละ 99 เพื่อเป็นการสนับสนุนการแจ้งเตือนสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที

งานอื่นๆ