ปี 2564 : โครงการปรับปรุงระบบสำรวจแบบเคลื่อนที่ เพื่อสนับสนุนการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ระยะที่ 4

22/02/2023

เทคโนโลยีสำรวจภูมิประเทศแบบเคลื่อนที่ หรือ MMS (Mobile Mapping System) ของ สสน. ได้มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลลักษณะภูมิประเทศ นำมาใช้วิเคราะห์และจัดทำแผนที่ทางภูมิศาสตร์ด้านน้ำ ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา

โดยปัจจุบันได้พัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับรถสำรวจ MMS เพิ่มเติม ร่วมกับการนำอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) มาใช้สำรวจในพื้นที่ที่รถ MMS ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยระบบ MMS แบบสมบูรณ์ช่วยให้ความถูกต้องของข้อมูลเพิ่มขึ้น 4 เท่า ค่าระดับความถูกต้อง 10 เซนติเมตร ได้ข้อมูลที่ทันสมัยตรงกับสภาพภูมิประเทศจริงและประมวลผลได้รวดเร็ว ประกอบกับอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Navigation Satellite System: GNSS) ในปัจจุบัน สามารถรับข้อมูลดาวเทียมได้หลายดวง ทำให้เพิ่ประสิทธิภาพของข้อมูลสำรวจภูมิประเทศให้มีความถูกต้องและละเอียดมากขึ้น

 ผลจากการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีของระบบ MMS อย่างต่อเนื่อง ทำให้ สสน. สามารถสนับสนุนปฏิบัติการเฉพาะกิจได้อย่างรวดเร็วในทุกสภาพภูมิประเทศ การวิเคราะห์และคาดการณ์ร่วมกับแบบจำลองต่างๆ เป็นไปได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการใช้ข้อมูลทั้งในสภาวะปกติและสภาวะฉุกเฉิน ร่วมกับการใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การวางแผน บริหาร และตัดสินใจเชิงพื้นที่ได้ถูกต้องและเหมาะสม เช่น พื้นที่ส่วนใดควรใช้สำหรับเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง ควรระบายน้ำไปในเส้นทางและทิศทางใด รวมถึงช่วยกำหนดพื้นที่อพยพที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ทรัพย์สิน และระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการดำเนินงานในปี 2564 ประกอบด้วย

การเพิ่มศักยภาพระบบสำรวจภูมิประเทศแบบเคลื่อนที่ (MMS)

สสน. ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบสำรวจภูมิประเทศแบบเคลื่อนที่ โดยพัฒนาแผ่นโยงยึดอุปกรณ์ให้มีความเหมาะสมกับพาหนะที่ใช้เป็นยานสำรวจ สามารถใช้งานได้ครอบคลุมการจับยึด ควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของชุดอุปกรณ์และยานสำรวจ รวมถึงบูรณาการอุปกรณ์สำรวจแต่ละชนิดให้สามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบควบคุม ระบบแสดงผลข้อมูลที่สามารถผสานข้อมูลสำรวจทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ ให้เป็นผืนเดียวกัน

การเพิ่มศักยภาพระบบการประมวลผลและแสดงผลข้อมูล (Online Processing System)

พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบประมวลผลข้อมูล ให้สามารถจัดการกับข้อมูลที่ได้จาก Sensor หลายชนิด และสามารถรับส่งข้อมูลจำนวนมากที่ส่งเข้ามาในระบบจัดเก็บและแสดงผลแบบ Real-Time ที่สามารถตรวจสอบสถานะการรับส่งข้อมูลและคุณภาพของข้อมูลขณะดำเนินงานได้ ด้วยประสิทธิภาพของระบบที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถประมวลผลข้อมูลที่มีปริมาณมากและขนาดของข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นได้ในเวลาที่รวดเร็ว ลดเวลาการประมวลผลข้อมูล และเพิ่มศักยภาพให้ระบบสามารถจัดเก็บข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ได้อย่างเหมาะสม โดยสามารถสืบค้นและเรียกใช้งานข้อมูลสำรวจภูมิประเทศจากระบบ MMS ของ สสน. ได้ทุกที่ทุกเวลาจากเว็บไซต์ https://mms.hii.or.th/publication/publish

ผลงานสำรวจสภาพภูมิประเทศ ปี 2564

สำรวจพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะและพังทลายของตลิ่ง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มิถุนายน 2564)

สสน. ร่วมกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการสำรวจภูมิประเทศโดยรอบสระน้ำใหญ่บริเวณหน้าคณะประมง ด้วยระบบ MMS เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาการกัดเซาะและพังทลายของตลิ่งรอบสระน้ำ โดยแบ่งการสำรวจออกเป็น 2 ส่วน คือ

  •  การสำรวจด้วยรถ MMS สำหรับสร้างแบบจำลองภูมิประเทศ 3 มิติ

  •  การสำรวจด้วยเรือสำรวจอัตโนมัติ USV (Unmanned Surface Vehicle) เพื่อสร้างรูปร่างสระน้ำ และระดับท้องน้ำ 3 มิติ

ผลจากการนำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนมาวิเคราะห์ร่วมกัน ทำให้ได้แบบจำลองภูมิประเทศ 3 มิติ ที่มีความถูกต้องสูง ± 4 เซนติเมตร และข้อมูลปริมาตรความจุและรูปตัดขวางของสระน้ำ ทำให้ทราบถึงระดับภูมิประเทศโดยรอบ และความจุของสระน้ำ ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ วางแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผลการสำรวจยังสามารถเรียกดูผ่านเว็บไซต์ได้ตลอดเวลา

สำรวจพื้นที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าพื้นที่ภาคใต้ (พฤศจิกายน – ธันวาคม 2564)

สสน. ร่วมสนับสนุนศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตาม ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่ ในการบริหารจัดการมวลน้ำช่วงฤดูฝนภาคใต้ ให้เกิดความเป็นเอกภาพและสามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว โดยทุกหน่วยงานสามารถใช้ข้อมูลจากศูนย์บริหารจัดการน้ำฯ ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำหลาก เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ สสน. ได้นำรถสำรวจ MMS ร่วมปฏิบัติการสนับสนุนการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ ประกอบด้วย 2 ภารกิจหลัก ได้แก่

•  สำรวจภาพรวมของพื้นที่ประสบภัยพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ด้วย 3 เทคโนโลยีสำรวจ คือ

1) สำรวจพื้นที่ด้วย MMS พื้นที่ 4 อำเภอ ระยะทางรวม 951 กิโลเมตร

2) สำรวจพื้นที่ด้วย UAV บินสำรวจรวม 83 ตารางกิโลเมตร

3) สำรวจค่าระดับด้วย GNSS โดยสำรวจระดับน้ำ และค่าระดับสถานีโทรมาตร จำนวน 7 สถานี

•  สำรวจพื้นที่ประสบภัยอุทกภัยจังหวัดชุมพร ในช่วงน้ำไหลท่วมถนนสายเอเชีย หมายเลข 41 ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 – 14 พฤศจิกายน 2564 ภายหลังเหตุการณ์ สสน. ได้เร่งรัดการสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 โดยใช้รถสำรวจ MMS ดำเนินการสำรวจระดับถนนสายเอเชีย หมายเลข 41 เพื่อจัดทำแผนที่ 3 มิติ ความถูกต้องสูง จากนั้นนำไปเปรียบเทียบกับค่าระดับน้ำจากสถานีโทรมาตร ซึ่งได้อ้างอิงจากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก.)  โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดชุมพรอีกครั้ง

ผลจากการใช้ข้อมูลสำรวจจาก สสน. ทำให้ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ สามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนระดับน้ำจากแม่น้ำสวีที่ล้นเข้าท่วมถนนสายเอเชีย หมายเลข 41 ได้ทันท่วงทีช่วยลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้

งานอื่นๆ