ปี 2563 : โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยชุมชนอย่างยั่งยืน

21/02/2023

โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยชุมชนอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดและขยายผลการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาให้ท้องที่ ท้องถิ่น และชุมชนสามารถจัดทำข้อมูลน้ำ แผนที่น้ำ มีข้อมูลแหล่งน้ำเชิงพื้นที่ สามารถใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน บริหารจัดการ และวางแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เกิดความมั่นคงทางด้านน้ำ ด้านอาหาร ด้านเศรษฐกิจชุมชน และด้านพลังงาน

จากความท้าทายของสถานการณ์น้ำของประเทศ สอดคล้องกับกรอบเป้าหมายการดำเนินงานระยะ 20 ปี (ปี 2561-2580) ของ สสน. ด้านการบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่ความยั่งยืน เชื่อมโยงกับการน้อมนำแนวพระราชดำริสู่การปฏิบัติ ถ่ายทอดและนำไปสู่การประยุกต์ใช้ร่วมกับชุมชนแกนนำ

ทำให้ สสน. มีตัวอย่างของการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับประเทศ ท้องถิ่น และชุมชน ได้แก่ การดำเนินงานด้านการใช้ข้อมูลสถานการณ์น้ำ ฐานข้อมูลระดับท้องถิ่น ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง เพิ่มน้ำต้นทุน มีน้ำสำรองสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร สามารถวางแผนเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต และรายได้ เป็นอีกแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตก้าวไปสู่ชุมชนที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ผลการดำเนินงานในปี 2563 สสน. สนับสนุนให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง เรียนรู้การจัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยี ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้การเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต สามารถขยายผลการพัฒนาทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของชุมชนแกนนำจำนวน 60 ชุมชน ในพื้นที่ 19 ลุ่มน้ำ และเครือข่ายหมู่บ้านรวม 1,773 หมู่บ้าน เกิดตัวอย่างการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับประเทศ ท้องถิ่น และชุมชน เกิดตัวอย่างการดำเนินงานทฤษฎีใหม่ 3,800 ไร่ ลดรายจ่ายครัวเรือน 19.2 ล้านบาทต่อปี เพิ่มรายได้ครัวเรือน 54.2 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มผลผลิตในฤดูแล้ง 3,873 ล้านบาท บรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่กว่า 3 ล้านไร่ ช่วยลดค่าชดเชยจากภาครัฐมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท

ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรีตัวอย่างการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำด้วยระบบน้ำหมุนเวียน

ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก เป็นพื้นที่ลุ่ม ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และน้ำท่วมในฤดูฝนเป็นประจำทุกปี มีคลองเกษียรเป็นคลองหลัก ซึ่งรับน้ำจากเขาชีปิด แต่สภาพถูกทิ้งร้างและตื้นเขิน กักเก็บน้ำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เดิมชาวบ้านมีอาชีพทำนา ต่อมาได้ถมที่นาเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกไผ่ตง จนกระทั่งประสบปัญหาน้ำแล้ง ไผ่ตงตาย จึงหันมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับ แต่เกิดปัญหาแย่งน้ำกันเพราะน้ำไม่เพียงพอต่อการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ชุมชนจึงเริ่มสำรวจพื้นที่และแหล่งน้ำ สำรวจการใช้น้ำของชุมชน พบว่าชุมชนต้องการใช้น้ำวันละ 55,000 ลูกบาศก์เมตร จึงเกิดแนวคิดจะสร้างเขื่อนเก็บน้ำ ซึ่งต้องใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 153 ล้านบาท

 การดำเนินงาน

1.  เริ่มจากการสำรวจเส้นทางน้ำ จัดทำผังน้ำทั้งตำบล ทำให้เห็นทิศทางการไหลของน้ำ และความต้องการน้ำของชุมชน ก่อนวางแผนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ จัดทำแผนที่ ผังน้ำ เส้นทางน้ำของตำบล เพื่อให้ชาวบ้านเห็นภาพชัดเจนของพื้นที่และเส้นทางน้ำ สร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างชาวบ้าน

2.  เพิ่มแหล่งกักเก็บ สำรองน้ำเพื่อการเกษตร ก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างแหล่งน้ำ สร้างภาชนะเก็บน้ำให้ตนเอง ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำเขาชีปิด ก่อสร้างฝาย และสระแก้มลิง เพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร ขุดสระน้ำประจำไร่นา หรือเขื่อนใต้ดิน มีแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่เกษตรของตนเอง ทั้งตำบลมีเขื่อนใต้ดินประมาณ 2,000 แห่ง

3.  เสริมน้ำเพื่ออุปโภคในครัวเรือนด้วยโซลาเซลล์แบบลอยน้ำ จ่ายน้ำเพื่ออุปโภคเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้านด้วยโซล่าเซลล์แบบลอยน้ำ (Floating PV) กำลังผลิต 2.5 กิโลวัตต์ จ่ายน้ำเข้าสู่อาคารระบายน้ำล้น (Spill way) ในอ่างเก็บน้ำห้วยเกษียร

4.  เชื่อมโยงโครงข่ายน้ำ และบริหารจัดการประตูน้ำ เชื่อมเส้นทางน้ำในตำบลด้วยการฟื้นฟูคลองสาขา 5 สาย ได้แก่ คลองไส้ไก่ คลองฟันปลา คลองยาง คลองเรือ และคลองกระท้อน เพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างแหล่งน้ำลำคลองด้วยการขุดลอก ครอบคลุม 14 หมู่บ้านของตำบลดงขี้เหล็ก

บริหารจัดการน้ำด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน”

ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหญ่ที่สุดของไทย ทั้งตำบลมีเงินออมรวมกันกว่า 480 ล้านบาท ทางรอดจากภัยแล้งของชุมชนอย่างยั่งยืน คือการทำ “ระบบน้ำหมุนเวียน” เป็นการจัดการน้ำและจัดรูปที่ดินให้สามารถใช้น้ำซ้ำได้หลายรอบ ส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้การจัดการน้ำด้วยตนเอง โดยจัดทำเขื่อนใต้ดินสำหรับกักเก็บน้ำ เพื่อการเพาะปลูก และขุดบ่อน้ำตื้น สูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ เพื่อใช้น้ำหมุนเวียนในครัวเรือน จนเกิดเป็นชุมชนตัวอย่างที่แก้ปัญหาสำเร็จ ช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตร สร้างอาชีพมั่นคง รายได้ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเอง และช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน

ตัวอย่างระบบน้ำหมุนเวียนของชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก ดังนี้

  1.  บ่อน้ำหมุนเวียนระดับครัวเรือน โดยทำบ่อขนาดความลึก 9 เมตร ทั้งหมด 23 วงบ่อซีเมนต์ เพื่อเป็นน้ำใช้ภายในครัวเรือน และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านบ่อเติมน้ำระบบปิด ซึมผ่านชั้นดิน หิน ทราย กรองแบบธรรมชาติ กลับสู่บ่อน้ำตื้น หมุนเวียนแล้วดึงน้ำจากบ่อขึ้นมาใช้ซ้ำ ช่วยลดเวลาและปริมาณการใช้น้ำในฤดูแล้ง เนื่องจากเป็นการรักษาระดับน้ำใต้ดิน เพิ่มความชื้นบริเวณพื้นที่เกษตรโดยรอบ

  2. โซล่าเซลล์ในอ่างเก็บน้ำเขาชีปิด สูบน้ำส่งตามท่อไปเก็บยังถังเก็บน้ำบนเขา เพื่อใช้สำหรับปลูกต้นไม้ ทำการเกษตรในพื้นที่เชิงเขาบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ และน้ำจากถังเก็บบนเขา เมื่อจ่ายน้ำเข้าพื้นที่แล้ว จะไหลลงตามร่องน้ำธรรมชาติที่มีอยู่เดิม ไหลลงมารวมกันในอ่างเก็บน้ำเขาชีปิดอีกครั้ง และจะถูกสูบกลับขึ้นไปเก็บไว้บนถังเก็บน้ำบนเขาซ้ำอีกครั้ง เป็นการปล่อยน้ำตามระดับความสูง จากเขาสู่อ่าง ระหว่างการไหลจะช่วยเพิ่มความชื้นให้กับบริเวณป่าต้นน้ำ และเติมน้ำเข้าสู่ลำคลอง ก่อนจะเข้าเก็บในอ่าง เป็นวัฏจักรหมุนเวียน ทำให้ปริมาณน้ำที่มียังคงหมุนเวียนอยู่ในระบบ

 ความสำเร็จ

•  บรรเทาปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ขุดคูคลอง ระยะทาง 52 กิโลเมตร สระน้ำประจำไร่นา กว่า 1,113 สระ ใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ชะลอน้ำ และสำรองน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคและการเกษตร น้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 1,486,647 ลูกบาศก์เมตร มีแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน

  •  มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เกษตรทฤษฎีใหม่ร่วมกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ สร้างรายได้เพิ่มกว่า 1,390,000 บาทต่อปี ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับสูบน้ำ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยละ 50 ต่อปี

  •  สังคมเข้มแข็ง เกิดกองทุนสวัสดิการชุมชน 12 กองทุน ขยายผลสำเร็จครอบคลุม 14 หมู่บ้าน ผู้รับประโยชน์ 10,256 คน 2,764 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรกว่า 35,000 ไร่ นอกจากนี้ยังขยายแนวคิดการจัดการลุ่มน้ำปราจีนบุรี สู่เครือข่ายกว่า 46 ตำบล ใน 2 จังหวัด

งานอื่นๆ