การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
29/10/2019
สสนก. เผยแพร่การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และประชาคมโลก ในการประชุมที่จัดโดยสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ หรือ UNISDR (The United Nations Office for Disaster Risk Reduction) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การประชุม Asian Science and Technology Conference on Disaster Risk Reduction (ASTCDRR) 2018 ระหว่างวันที่ 17 – 18 เมษายน 2561 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเวทีนี้เป็นการประชุมที่จัดขึ้นทุก 2 ปี โดยจัดต่อเนื่องจากการประชุม ASTCDRR ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2559 ซึ่งจัดโดย สสนก. เพื่อเป็นเวทีให้ผู้เกี่ยวข้องในแวดวงวิทยาศาสตร์ร่วมนำเสนอ อภิปราย รายงานความก้าวหน้า รวมถึงให้ข้อคิดเห็นและข้อสังเกต เพื่อดำเนินการให้ได้ตามกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นที่ Target E: Substantially increase the number of countries with national and local disaster risk reduction strategies และ สสนก. ได้เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานด้านการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภาวะปกติและภาวะวิกฤตตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับชุมชน และการขยายการดำเนินงานไปสู่ระดับภูมิภาค
การประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ประจำปี พ.ศ. 2561(Asian Ministerial Conference on Disaster Risk Reduction – AMCDRR 2018) ระหว่างวันที่ 3 – 6 กรกฎาคม 2561 ซึ่งถือเป็นการประชุมหลักในด้านภัยพิบัติของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามสถานะการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
สสนก. ได้เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานโดยแบ่งได้เป็น 4 งานหลัก ดังนี้
(1) Thematic Event DRR In Action จำนวน 2 เวที ได้แก่ Thematic Event 2: Local Action for Resilience หัวข้อ “Collaborative Community for Flood and Drought Resilience” ด้วยกรณีศึกษา ชุมชนบ้านภูถ้ำ ภูกระแต จังหวัดขอนแก่น และ Thematic Event 4: Technology & Innovations หัวข้อ “Development of In-Land Marine Survey System for Water Resources Management Tasks” ด้วยการนำเสนออุปกรณ์สำรวจความจุของแหล่งน้ำขนาดต่างๆ ที่ สสนก. ร่วมคิดค้นกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อการรับมือภัยพิบัติ การวางแผนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรต่อไป
(2) Ignite Stage ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และตัวอย่างความสำเร็จในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ในหัวข้อ “Operation of Flashflood Forecasting System at Bang Saphan Basin in Prachuap Khiri Khan Province, Thailand” เกี่ยวกับการใช้ระบบแบบจำลองคาดการณ์น้ำท่วมฉับพลันเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่นำร่องลุ่มน้ำบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
(3) จัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านน้ำของ สสนก. โดยเน้นการแนะนำเครื่องมือ อุปกรณ์ แบบจำลอง คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติของประเทศไทย และการขยายผลสู่ระดับชุมชน
(4) ร่วมตีพิมพ์บทความในธีม Case Study : Early Warning Early Action เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ The International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies