รมว.อว สั่ง สสน.-จิสด้า รับมือร่องมรสุมพาดผ่านอีสาน-เหนือ วันที่ 19 – 20 ก.ย.นี้ สั่ง จิสด้า – สสน.ติดตามสถานการณ์ ฝนตกเพิ่ม


สืบเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี รมว.อว. ได้ประสานส่งคณะผู้ช่วยรัฐมนตรี, ที่ปรึกษารัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจาก สสน.  สทอภ.ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมประชุมร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, สภาเกษตรกรจังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติในสถานการณ์ปัจจุบัน และเตรียมรับมือกับสถานการณ์หลังน้ำท่วม

โดยวันที่ 16 กันยายน 2562 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าติดตามการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ ที่ห้องบัญชาการและวิเคราะห์สถานการณ์ (War Room) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) พร้อมมอบหมายภารกิจหน่วยงาน ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมี ดร. สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ, ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ บรรยายสรุปและให้การต้อนรับ

ปัจจุบัน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สถานการณ์น้ำได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 13 กันยายน ระดับน้ำล้นตลิ่งอยู่ประมาณ 3.70 ม. และมีแนวโน้มลดลงวันละ 10-12 ซม.  ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงวันละประมาณ 1 เมตร ทำให้ลุ่มน้ำชี-มูล ระบายน้ำได้ปริมาณมากขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้น  แต่คาดว่าช่วง 19-20 กันยายน ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างจะกลับมามีฝนตกเพิ่มขึ้น ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด

จากนั้นมีการประชุมทางไกล ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรับทราบสถานการณ์ความเสียหายในภาพรวม และการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยสรุปสถานการณ์อุทกภัยด้านการเกษตร จ.อุบลราชธานี พบว่า มีพื้นที่ประสบภัยจำนวน 25 อำเภอ 170 ตำบล 1,289 หมู่บ้าน มีผู้ประสบภัย 36,607 ครัวเรือน กระทบพื้นที่การเกษตรรวม 0.49 ล้านไร่ พื้นที่นาข้าว 78,942 ไร่ พื้นที่ไม้ผล ไม้ยืนต้น 7,680 ไร่

 

การเตรียมรับมือหลังเหตุการณ์น้ำท่วม จะต้องมีการดำเนินงานดังนี้

ระยะสั้น อว. โดย สสน. และ สทอภ. ยังคงเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์และคาดการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ร่วมทำงานกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่และสภาเกษตรกรจังหวัด เพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม รวมทั้งสสน.ได้จัดทำเว็บไซต์เฉพาะกิจเพื่อบริหารจัดการในภาวะวิกฤตด้วย

ระยะกลาง หลังจากน้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เร่งฟื้นฟูเยียวยา ด้านการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ทั้งพื้นที่เกษตรและพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

ระยะยาว ร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สร้างระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศในระดับพื้นที่ ระบบการแจ้งเตือน จัดทำผังน้ำ ข้อมูลแหล่งน้ำ โดย สสน. สนับสนุนการพัฒนาระบบข้อมูลน้ำระดับจังหวัด และการจัดการทรัพยากรน้ำระดับชุมชน ฟื้นฟู พัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแก้มลิง การบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ระหว่างเกษตร ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบัน สสน. ได้ดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ด้วย ว และ ท ร่วมกับ 60 ชุมชนแกนนำ ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 18 ชุมชน โดยในจังหวัดอุบลราชธานี มีตัวอย่างความสำเร็จ ที่บ้านผาชัน อำเภอโพธิ์ไทร  บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม และ บ้านท่าค้อ อำเภอเขื่องใน