นายกรัฐมนตรีตรวจความพร้อมคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ


นายกรัฐมนตรีตรวจความพร้อมคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

 

วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2560) เวลา 10.30 น. ณ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจความพร้อมคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ  นายรอยล  จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร  นายสุรเจตส์  บุญญาอรุณเนตร  ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศทรัพยากรน้ำ  พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงได้เยี่ยมชมคอมพิวเตอร์แม่ข่ายชุดปฐมฤกษ์เก็บรวบรวมข้อมูลน้ำถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 สำหรับการทรงงานติดตามสถานการณ์น้ำบนเว็บไซต์ weather 901 และระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computing)

ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร  กล่าวรายงานว่า  คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ พัฒนาต่อเนื่องมาจากระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย ที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ปี 2539 และ
เริ่มดำเนินการพัฒนาระบบในปี 2541 โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ดำเนินการพัฒนาระบบเชื่อมต่อและเก็บรวบรวมข้อมูลทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แล้วเสร็จพร้อมใช้งานในปี 2545 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย อีกทั้ง ยังได้พัฒนาเป็นเว็บไซต์ทรงงานส่วนพระองค์ weather 901 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ใช้ทรงงานติดตามสถานการณ์น้ำผ่านเว็บไซต์นี้เป็นประจำทุกวัน

นอกจากนี้ ปี 2551 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำ ขยายผล รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศ จำนวน 12 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมเจ้าท่า กรมอุทกศาสตร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาที่ดิน และ กรมทรัพยากรธรณี เกิดเป็น “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ” และในปี 2558 รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร  (สสนก.) ขยายการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มขึ้นเป็น 34 หน่วยงาน ปัจจุบันมีข้อมูลทั้งหมด 388 รายการ ประกอบด้วยข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงานต่าง ๆ แสดงผลร่วมกันบนระบบติดตามสถานการณ์น้ำ ทำให้เห็นข้อมูลสถานการณ์น้ำได้อย่างครบถ้วน เช่น พื้นที่ฝนตกหนัก พื้นที่น้ำล้นตลิ่ง การคาดการณ์พื้นที่ฝนตกหนัก และพื้นที่คลื่นลมแรง จากข้อมูลที่ครบถ้วน ทำให้การวิเคราะห์สถานการณ์มีความถูกต้องทั้งเชิงพื้นที่และเวลา ประกอบกับความแม่นยำของการคาดการณ์ด้วยแบบจำลอง WRF-ROMS จึงสามารถวิเคราะห์ร่วมกับปริมาณฝนและระดับน้ำปัจจุบัน ที่ตรวจวัดได้จากสถานีโทรมาตร ส่งผลให้การกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยมีความถูกต้องและชัดเจน ช่วยป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยได้  ขณะที่คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ได้เปิดให้บริการข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net และ Mobile Application ชื่อ ThaiWater เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูล ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศด้วยตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลาด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำของประเทศและการแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นมีประสิทธิภาพ  โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม  น้ำแล้ง  ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย   พร้อมขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน  ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน   และต้องมีการวางแผนงานบูรณาการร่วมกัน    ส่วนศูนย์เมขลาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาตินั้นภารกิจส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบปฏิบัติ แต่ในส่วนของคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ   จะเป็นตัวหลักในการติดตามสถานการณ์ล่วงหน้าทั้งในประเทศและในแถบอาเซียน   ซึ่งเป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงรับสั่งไว้ว่า เราจะต้องบริหารงานจากปัญหา ข้อเท็จจริง และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  จากประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้  ยังต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาผลิตเป็นข้อมูลให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ลดความขัดแย้ง  กัน  รัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณในแต่ละส่วน  ไม่เช่นนั้นจะยากต่อการบริหาร  ลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน   การบูรณาการข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูล และกระจายข้อมูลเหล่านี้ให้ถึงผู้ใช้งานอย่างมีระบบครบถ้วน รวมถึง  ประเทศไทยต้องบริหารงานอย่างเป็นภูมิภาค  เพื่อให้การบริหารอย่างเป็นรูปธรรม    รวมทั้งสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนในการใช้น้ำอย่างเป็นระบบและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ของภัยพิบัติต่าง ๆ  ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ขณะที่กลุ่มประเทศต่าง ๆ  รวมถึง UN ได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยที่จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลน้ำแห่งชาติในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย

 

ที่มา : www.thaigov.go.th