“รอยล” เตือนน้ำเขื่อนยังน้อย แม้ฝนตกมาก


“รอยล” เผยสถานการณ์น้ำปีนี้แม้ฝนตกมาก แต่น้ำเขื่อนยังน้อย เตือนระวังการใช้น้ำ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล หวั่นปัญหาเรื้อรัง  หวังพายุลูกใหม่ หากก่อตัวตามคาดช่วยเติมน้ำอีสานตอนล่าง  ชวนประชาชนตรวจสอบสถานการณ์น้ำด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น

วันนี้ (7 กย.59 ) ที่อาคารบางกอกไทย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดเวิร์คชอปสื่อมวลชน เพื่อฝึกซ้อมการติดตามสถานการณ์น้ำด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น โดยดร.รอยล จิตรดอน ผู้อํานวยการ สสนก. ให้ข้อมูล เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในปีนี้ว่า ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากปัจจุบันปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้รวม 4,880 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบกับปี 2558 ที่มีประมาณ 4,400 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำเฉลี่ยในช่วงฤดูแล้ง จะต้องมีถึง 8,000 –8,500 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงขาดอยู่กว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถึงจะเพียงพอทั้งการอุปโภคบริโภค ผลักดันน้ำเค็มและการเกษตร

“เหลือเวลาอีก 55 วันก็จะหมดฤดูฝนของประเทศไทย ดังนั้นจึงต้องใช้น้ำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะน้ำในเขื่อนภูมิพล ที่ปีนี้ยังมีน้ำเข้าเขื่อนน้อยมาก โดยมีน้ำใช้การได้เพียงแค่ 7 % เนื่องจากฝนไม่ตกลงเขื่อน และในปี 2557-2558 มีการใช้น้ำจากเขื่อนไปมาก หากใช้น้ำไม่ระวัง อาจเกิดปัญหาเรื้อรังได้ ซึ่งการจะทำให้น้ำในเขื่อนภูมิพลกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติ มีน้ำเพียงพอจะต้องใช้เวลาถึง 3 ปี”

ดร.รอยล กล่าวอีกว่า ปีนี้ไทยยังโชคดีที่มีฝนตกมากทั้งภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้แม้น้ำในเขื่อนจะน้อย แต่ถ้าบริหารจัดการดี ก็ไม่น่ามีปัญหา นอกจากนี้ยังมีรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่ากำลังเฝ้าระวังหย่อมความกดอากาศต่ำ พาดผ่านด้านตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งหากก่อตัวเป็นพายุ ในช่วง 11-12 กันยายนนี้ จะช่วยทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างได้รับน้ำจากฝนมากขึ้น รวมถึงอาจส่งผลไปเติมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักได้บ้าง ทั้งนี้หากก่อตัวเป็นพายุจริง คาดว่าไม่น่าจะรุนแรงมากนัก ซึ่งเขื่อนพร้อมรับน้ำ ส่วนเมืองควรเตรียมความพร้อมในระบายน้ำท่วมขังที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดีประชาชนสามารถตรวจสอบสถานการณ์น้ำได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net และแอพพลิเคชั่น ThaiWater ซึ่งเป็นข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ที่ริเริ่มมาจากโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ปี 2541 โดย สสนก.ได้รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นในการติดตามสถานการณ์น้ำและอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปัจจุบันมีกว่า 30 หน่วยงาน โดยมีทั้งข้อมูลพายุ ปริมาณฝน น้ำในเขื่อน และในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ รวมถึงการคาดการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานราชการได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติต่างๆ

ที่มา : เดลินิวส์