บริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

บริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรทั้งประเทศ มีจำนวน 65.1 ล้านคน เป็นประชากรภาคเกษตร 22.4 ล้านคน หรือ ร้อยละ 34.49 ที่ต้องพึ่งพาน้ำที่เป็นปัจจัยหลักในการทำเกษตร ในขณะที่ประเทศไทยประสบปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้งเป็นประจำทุกปี จำเป็นต้องมีระบบการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยที่ดีในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมน้ำแล้ง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยได้ประสบปัญหาอุทกภัยร้ายแรง และสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากฝนที่มาเร็วกว่าปกติและตกต่อเนื่องจนถึงปลายปี ซึ่งเป็นอิทธิพลของลานิญาและอิทธิพลของลมประจำภูมิภาค คือ ลมสินค้าทางซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ และลมประจำท้องถิ่นคือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงกว่าปกติ รวมทั้งพายุโซนร้อนไหหม่าและนกเตน ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำสะสม ของเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งส่งผลให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนใกล้เต็มความจุ จากนั้น ในปี พ.ศ. 2555 ถึง 2558 ประเทศไทยหันมาประสบปัญหาภัยแล้ง ปริมาณฝนน้อยลง เกิดผลกระทบต่อภาคการเกษตร ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยที่ดีในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการในพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัยและภัยแล้ง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่นอกเขตชลประทานมากกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน ได้แก่ ภาคเหนือ ร้อยละ 87 และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 94 รายละเอียดดังต่อไปนี้

 
ภาค พื้นที่การเกษตร (ตร.กม.) พื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทาน(ร้อยละ)
รวม ในเขตชลประทาน นอกเขตชลประทาน
เหนือ 45,936 6,080 39,856 86.8
ตะวันออกเฉียงเหนือ 106,704 6,384 100,320 94.0
กลาง 55,696 25,088 30,608 54.9
ใต้ 38,896 4,784 34,112 87.7
รวมทั้งสิ้น 247,2323 42,336 204,896 82.9

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า เกษตรกรไทยเกินกว่า ร้อยละ 80 ต้องอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำฝนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน จึงเป็นแนวทางดำเนินงานให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือ เพื่อมีน้ำไว้สำหรับทำเกษตรอุปโภค และบริโภคได้อย่างพอเพียง  สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ รวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งทางด้านทรัพยากร สังคม และเศรษฐกิจ

 การดำเนินงาน

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถึง ปัจจุบัน เริ่มต้นจาก 2 ชุมชน เพิ่มขึ้นเป็น 60 ชุมชนแกนนำ ที่สามารถบริหารจัดการน้ำชุมชนด้วยตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น รวมทั้ง เป็นต้นแบบพัฒนาและขยายผลเป็นเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เครื่องมือ

60 ชุมชนแกนนำ ได้ดำเนินงานน้อมนำแนวพระราชดำริ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือสำรวจตนเอง เก็บข้อมูล จัดทำแผนที่ ผังน้ำ สมดุลน้ำ และแผนพัฒนาแหล่งน้ำ เชื่อมโยงข้อมูล ผังงาน เข้ากับพื้นที่จริง ให้สามารถเข้าใจบริบทของพื้นที่ เกิดนวัตกรรมชุมชน และระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่ เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสม

Slide1

วิธีการ

การดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน เกิดความมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ ร่วมกับทุกภาคส่วน โดยภาครัฐทำหน้าที่ ให้คำปรึกษา ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง อำนวยความสะดวก รวมทั้ง ประสาน เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน และชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงาน เกิดความเป็นเจ้าของ เกิดรูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจน พึ่งพาตัวเองได้ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน นำไปสู่ขยายผลเชิงพื้นที่ เกิดเป็นเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน และขยายผลในระดับนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศต่อไป

Slide3

Slide2

ผลสำเร็จ

ผลจากการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สรุปผลสำเร็จที่ชุมชนได้รับ แบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านน้ำ
  • เกิดข้อมูลน้ำ แผนที่น้ำ ผังน้ำ ที่จะใช้วิเคราะห์และนำไปสู่แนวทางพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เกิดการพัฒนาโครงสร้างน้ำ และจัดการน้ำแบบพึ่งตนเอง
  • เกิดความมั่นคงด้านน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน มีน้ำสำรอง สำหรับอุปโภค – บริโภค และการเกษตร ได้ตลอดปี
  1. ด้านอาหารและเศรษฐกิจชุมชน
  • เกิดความมั่นคงด้านอาหาร มีการวางแผนการใช้น้ำ จัดทำตารางการเพาะปลูก ปรับเปลี่ยนปฏิทินการ เพาะปลูกให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ได้ผลผลิตทางการเกษตรตลอดปี ช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน
  • เกิดความมั่นคงด้านรายได้และเศรษฐกิจชุมชน เกิดกลุ่มและกองทุนที่จัดการโดยชุมชนเอง มีส่วนร่วม พัฒนาและบริหารจัดการน้ำ ในระดับชุมชน หมู่บ้าน และตำบลอย่างยั่งยืน ในรูปแบบหุ้นส่วน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
  1. ด้านคน เครือข่าย ความร่วมมือ
  • ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ได้ผูกงานพัฒนา ดิน น้ำ ป่า และเกษตร คน เข้าด้วยกัน โดยใช้หลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลักในการพัฒนา
  • ขยายผลจาก คน ชุมชน ไปสู่ การบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ระดับตำบล และระดับลุ่มน้ำ
  • เกิดการดำเนินงานแบบ ประชารัฐ ในการถ่ายทอดและขยายผลตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ โดยมีรัฐทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านหลักวิชาการและเทคนิค อำนวยความสะดวก เชื่อมโยงการทำงานเพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติได้จริง และภาคเอกชนร่วมสนับสนุนด้านงบประมาณ การเผยแพร่ ถ่ายทอด และงานด้านพัฒนา