ศูนย์ศึกษาการพัฒนา

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : มรรควิธีที่ช่วยเหลือให้เกษตรกรได้บรรลุผลในการพึ่งตนเอง


1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : ความหมายและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ด้วยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งหวังจะพัฒนาประชาชนในชนบทให้สามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับ “พออยู่ พอกิน” เสียก่อน จากนั้นก็จะเพิ่มระดับการพึ่งตนเองได้เป็นลำดับ แนวพระราชดำริเพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหลายนี้อาจกล่าวได้ว่าเพื่อสนองพระราโชบายในการเสริมสร้างการเรียนรู้แก่ประชาชนในชนบท เพื่อจักได้พึ่งตนเองได้โดยแก้ กล่าวคือ
1.1 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชประสงค์ในการจัดตั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชาธิบายว่า “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มีลักษณะดังนี้
“...เป็นศูนย์ หรือเป็นที่แห่งหนึ่งที่รวมการศึกษาเพื่อดูว่า ทำอย่างไร จะพัฒนาได้ผล...”

นอกจากนี้ได้พระราชทานพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า

“...ศูนย์ศึกษานี้เป็นคล้ายๆ พิพิธภัณฑ์ใหญ่ที่มีชีวิตที่ใครๆ จะมาดูว่าทำอะไรกัน...”


พุทธศักราช ๒๕๒๒ ทรงจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นแห่งแรก
1.2 สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนั้น มีพระราชดำรัสว่า

ก. เพื่อเป็นแหล่งสาธิตให้เกษตรกรได้เรียนรู้

“...ที่ตั้งศูนย์ศึกษานี้เพื่อจุดประสงค์สำคัญยิ่ง 2 ทาง คือ ทางหนึ่งก็คือเป็นการ สาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ หมายถึงว่าทุกสิ่งทุกด้านของชีวิตประชาชน ที่จะหาเลี้ยงชีพในท้องที่จะทำอย่างไรและได้เห็นวิทยาการแผนใหม่จะสามารถที่จะหาดูวิธีการจะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ...”

ข. เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยทดลอง

“...จุดประสงค์ของศูนย์ศึกษาฯ ก็เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยในท้องที่ เพราะว่าแต่ละท้องที่สภาพฝนฟ้าอากาศและประชาชนในท้องที่ต่างๆ กัน ก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน...”

ค. เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดเห็นในการพัฒนา

“...กรมกองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนทุกด้านของการพัฒนาชีวิตของประชาชน ได้สามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปรองดองกัน ประสานงานกัน...”

ง. เป็นศูนย์รวมบริการประชาชนทางด้านความรู้และวิชาการ

“...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรมกอง ทั้งในด้านเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านหางานการส่งเสริมการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็หมายความว่าประชาชนซึ่งจะต้องใช้วิชาการทั้งหลายก็สามารถที่จะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนก็มาอยู่พร้อมกันในที่เดียวกัน ซึ่งเป็นสองด้านก็หมายถึงว่าที่สำคัญปลายทางคือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์..”


จึงอาจกล่าวได้ว่าศูนยืศึกษาการพัฒนา คือ แหล่งค้นคว้าหาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ของเกษตรกร สืบเนื่องจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งหวังพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้สามารถช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ โดยวิธีการหนึ่งที่ทรงเห็นว่าได้เรียนรู้และพบเห็นด้วยประสบการณ์ตนเองนั้น เป็นการสร้างการเรียนรู้ในการพัฒนาชนบท ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชดำริให้มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากระราชดำริ โดยทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้า ทดลอง วิจัย และแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับภสพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้นๆและเมื่อค้นพบพิสูจน์ได้ผลแล้ว ก็จะนำผลที่ได้ไป “พัฒนา” สู่ราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียงจนกระทั่งขยายผลแผ่กระจายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้สำเร็จสูงสุดสู่ราษฎรต่อไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้มี “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้นตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ จำนวน 6 ศูนย์ ได้แก่
      1.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
      มีภารกิจหลักในด้านการปรับปรุงและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน การปลูกป่าไม้ และการพัฒนาปศุสัตว์ การจัดตั้งธนาคารโค - กระบือ การส่งเสริมด้านการประมง การพัฒนาด้านไม้ดอกไม้ผล และการจัดการด้านสหกรณ์ เป็นต้น


      2.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
      ดำเนินกิจกรรมด้านค้นคว้า ทดลอง วิจัย และสาธิตการพัฒนาและอนุรักษ์สภาพ แวดล้อมชายฝั่ง การบำบัดน้ำเสียจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ การอนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลน การวิจัยและทดสอบระบบการเกษตรผสมผสาน การส่งเสริมความรู้ในเรื่องการสหกรณ์ การอบรมด้าน ปศุสัตว์ เป็นต้น


      3.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
      เน้นการพัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้เอนกประสงค์ จัดให้ราษฎรที่ทำกินอยู่เดิมได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ มุ่งฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม และสร้างแนวป้องกันไฟป่าโดยใช้ระบบป่าเปียก ศึกษาหาวิธีการให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สภาพป่า พร้อมกับมีรายได้จากป่า และปลูกพืชชนิดต่างๆควบคู่กันไป


      4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
      ภารกิจหลัก คือ การพัฒนาระบบชลประทาน พัฒนาระบบการปลูกพืชเศรษฐกิจ การทดสอบพันธุ์ข้าวไร่ การศึกษาระบบนิเวศวิทยาของป่า การปรับปรุงบำรุงดิน และการพัฒนาส่งเสริมด้านปศุสัตว์และประมง


      5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
      เน้นการดำเนินการศึกษาค้นคว้า ทดลอง เพื่อแสวงหารูปแบบในการพัฒนาพื้นที่บริเวณต้นน้ำลำธารของภาคเหนือ เพื่อเป็นต้นแบบ ในการพัฒนาลุ่มน้ำอื่นๆในภูมิภาค โดยใช้ระบบชลประทานเข้าเสริม การปลูกไม้ 3 อย่าง เพื่อให้ก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเน้นเรื่องการพัฒนาป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้สมบูรณ์เป็นหลัก และให้ปลายทางเป็นการศึกษาด้านประมงตามอ่างเก็บน้ำ


      6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกะลุวอเหนือ จังหวัดนราธิวาส
      ภารกิจหลัก คือ ศึกษา วิจัย และพัฒนาสภาพของดินที่มีปัญหา และใช้ประโยชน์ไม่ได้ ให้นำกลับมาใช้เป็นประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมได้อีก เช่น การพัฒนาดินอินทรีย์และดินที่เปรี้ยวจัด การใช้น้ำชะล้างกรดจากดิน การพัฒนาพื้นที่ป่าพรุ การอนุรักษ์และบำรุงพันธุ์ไม้ในป่าพรุ การทดลองด้านประมงและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น

หนังสือศูนย์ศึกษาการพัฒนา.jpg สามารถดูข้อมูลรายละเอียดการดำเนินงานของแต่ละศูนย์ฯ ได้จากหนังสือ "ศูนย์ศึกษาการพัฒนา พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์สำนักงาน กปร.


เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ของ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา



**ข้อมูลจาก หนังสือ ๘๐ ทศวรรษแห่งการพัฒนา จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ