พระมหากษัตริย์นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่

รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:08, 21 กรกฎาคม 2551 โดย Haiiwiki (คุย | มีส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
เอกสารประกอบการบรรยาย

“พระมหากษัตริย์นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่”


พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาวิชาการเบื้องต้น ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอน์แลนด์และทรงศึกษาต่อที่ประเทศนั้นจนจบชั้นอุดมศึกษา ในช่วงต้นของการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น พระองค์ทรงศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ และหลังจากที่ได้เสด็จขึ้นครองราชเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แล้วทรงเปลี่ยนแนวการศึกษาจากทางด้านวิทยาศาสตร์มาเป็นทางด้านสังคมศาสตร์ เพื่อเตรียมรับพระราชภารกิจ ในฐานะองค์พระมหากษัตริย์

ในที่นี้ จะขออัญเชิญบทพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้ไว้กับผู้จัดทำรายการพูดจาประสาช่าง ซึ่งได้พิมพ์ในวิศวกรรมสาร “ในหลวงกับงานช่าง” ความตอนหนึ่งว่า “เท่าที่สังเกตมาตั้งแต่ยังจำความได้ ก็เห็นท่านทำงานช่างอยู่หลายอย่างท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนเด็กๆ นั้น ท่านก็มีความสนพระทัยในงานช่างมาก แล้วก็ตอนท่านเล็กๆ สมเด็จย่าเลี้ยงท่านอย่างค่อนข้างเข้มงวด คือ แม้แต่ของเล่น ก็ไม่ได้มีของเล่นมากมายสำเร็จรูป อย่างฟุ่มเฟือยเหมือนอย่างเด็กๆ สมัยนี้ แม้แต่เงินทอง ที่สมเด็จย่าให้เป็นค่าขนมแต่ละครั้งนั้น ก็ให้อย่างจำกัด จะซื้อหาอยากได้อะไรแต่ละอย่างก็ต้องคิดว่าจะเอาอะไรก่อน อะไรหลัง อะไรคุ้มดีไหม อย่างเช่น ท่านอยากได้วิทยุมาฟังท่านก็ต้องเข้าหุ้นกับทูลกระหม่อมลุง ซื้อชิ้นส่วนของวิทยุทีละชิ้นๆ เอามาประกอบเองเป็นวิทยุ ซึ่งก็ต้องฟังกัน 2 คน ที่เข้าหุ้นกัน แล้วก็การที่บางครั้งเงินที่ได้รับเป็นค่าขนมก็ไม่พอที่จะซื้อของ ที่ท่านอยากได้ก็ต้องมีการหาเงินพิเศษ วิธีหาเงินพิเศษนั้น ก็ต้องใช้ความสามารถของท่านเองนี่แหละ เช่นมีพี่เลี้ยงซึ่งก็ไม่กล้าให้เงินท่านโดยไม่มีเหตุผล เวลาทำอะไรให้แก แกถึงจะให้ได้เช่น เวลาจักรเย็บผ้าแกเสีย ท่านตอนนั้นก็ซัก 10 ขวบ ท่านก็แก้ได้ แก้ได้ก็ได้สตางค์เพื่อเป็นค่าจ้างแก้จักร

จากพระราชประวัติ ทำให้เราสามารถเข้าใจถึงทัศนคติและความสนพระราชหฤทัย ในวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พระปรีชาสามารถนี้ ยังคงอยู่ในพระราชหฤทัยตลอดมา

เป็นที่ทราบกันดีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีฝีพระหัตถ์เป็นเยี่ยมในด้านการช่าง ไม่ว่าจะเป็นงานช่างไม้ ช่างโลหะ หรือช่างกล ซึ่งเป็นงานพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ ครั้งยังทรงพระเยาว์ขณะประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นั้นทรงมีห้องปฏิบัติหรือที่เรียกว่า “เวิร์กช้อป” อยู่ในพระตำหนักวิลลาวัฒนา ทรงใช้เวิร์กช้อปนี้ประดิษฐ์เรือใบด้วยพระองค์เองเพื่อนำไปใช้ในการแข่งขันกีฬา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการใช้เรือใบดังกล่าวทรงพิชิตเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2510 เหนืออื่นใดคือพระองค์ทรงต่อเรือใบเองด้วย

ทรงออกแบบเรือใบมด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในการพัฒนากีฬาเรือใบ พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ และพระวิริยอุตสาหะเป็นอย่างยิ่งโดยได้ทรงออกแบบเรือใบขึ้นชนิดหนึ่ง คือ

เรือใบมด (Mod) พระองค์ได้ทรงออกแบบและสร้างเรือใบมดลำแรกด้วยพระองค์เอง คือ เรือใบมด 1 และได้ทรงนำเรือลำนี้ไปแข่งขันที่ประเทศอังกฤษเมื่อคราวเสด็จประพาสครั้งนั้น และทรงสามารถชนะเรือของผู้แข่งขันอื่นในขนาดใกล้เคียงกันได้เรือใบมดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงออกแบบนั้นเป็นเรือใบเสาเดียว ประเภท One-Designing Class ซึ่งนับว่าเป็นแบบที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการแข่งขันมีราคาในการสร้างไม่แพง และสะดวกในการเก็บรักษา มีน้ำหนักเบาสะดวกในการเดินทางและเคลื่อนย้าย มีคุณสมบัติว่องไวดีในการเล่น และกลับลำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงออกแบบและทรงสร้างเรือใบมดลำแรกขึ้น แล้วได้ทรงทดสอบด้วยการนำไปแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปรากฏว่าเรือใบแบบนั้นซึ่งต่อมาโปรดให้เรียกว่า “เรือมด 1” มีความคล่องตัวดี เหมาะสมกับการแข่งขันมาก จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สโมสรกรมอู่ทหารเรือดำเนินการต่อเรือมดขึ้นอีก ซึ่งทำให้ช่างของกรมอู่ทหารเรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากงานประจำอีกด้วย รายได้จากการต่อเรือส่วนหนึ่งได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายผู้ออกแบบในฐานะมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของแบบ (หรือปัจจุบันอาจจะเรียกว่า เจ้าของสิทธิบัตร) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเป็นผู้พัฒนาอุตสาหกรรมการต่อเรือ และเริ่มธุรกิจการต่อเรือในประเทศไทยด้วย ต่อมาได้ทรงปรับปรุงแบบเรือมดและได้ทรงออกแบบเรือใบชุดมดอีก 2 ประเภท คือ เรือซุปเปอร์มด และเรือไมโครมด ซึ่งเป็นเรือที่ได้รับความนิยมมากในหมู่สมาชิกแล่นใบชาวไทย


พระราชกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรากตรำพระวรกายเพื่อปวงประชาด้วยการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่อันยังประโยชน์สุขแก่ประเทศตลอดมาเป็นเวลากว่าห้าสิบปีนับตั้งแต่

เถลิงถวัลยสิริราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ การเสด็จพระราชดำเนินดังกล่าวเปรียบประดุจดัง การสร้าง “พระคลังข้อมูลด้านการพัฒนา”

โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 3,000 โครงการ การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ นั้นพระองค์ทรงให้ความสำคัญที่การพัฒนาคน ให้อยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืนพระองค์ทรงใช้หลักในการพัฒนาที่เป็นเหตุเป็นผล ทรงเน้นการประยุกต์ศาสตร์แขนงต่างๆ มาใช้อย่างเหมาะสมกับแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ดังจะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทรงกระทำสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม การพลังงาน การสาธารณสุข การคมนาคม การพัฒนาแหล่งน้ำ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น


ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

งานทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยมีมาก และได้ทรงดำเนินการที่จะพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตถกรรมให้ก้าวหน้าทันสมัย สามารถแบ่งแยกให้เด่นชัดในด้านต่างๆ ดังนี้

วิศวกรรมการเกษตรกับการพัฒนาแหล่งน้ำ และพลังงาน

จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในชนบททรงได้พบเห็นท้องถิ่นหลายแห่งประสบปัญหาความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูกาลการเพาะปลูก เกษตรกรจะประสบความเดือดร้อนมากในขณะฝนทิ้งช่วง ซึ่งสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรเป็นอย่างสูง ดังนั้น ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลและทรงความเป็นอัจฉริยะในพระองค์ท่าน ในปีพุทธศักราช 2499 ได้มีพระราชดำริให้ค้นหาวิธีการที่จะทำให้เกิดฝนตกนอกฤดูกาลธรรมชาติ โดยนำเทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่มาประยุกต์กับศักยภาพของการเกิดฝนในเขตร้อน และเป็นที่มาของ “ฝนหลวง” ดังที่ที่รู้จักกันโดยทั่วไป

ต่อมา ได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อปีพุทธศักราช 2518 เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวง และมีสถานีปฏิบัติการฝนหลวงกระจายตามภูมิภาค 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา ลพบุรี และประจวบคีรีขันธ์

นอกจากนี้ในเรื่องของน้ำซึ่งนับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญยิ่งต่อมนุษย์ ทั้งในด้านการบริโภค อุปโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการคมนาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญของน้ำต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร จากการเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเยี่ยมราษฎร ทำให้ทรงได้รับข้อมูลปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งเพื่อการเพาะปลูกและการบริโภคอุปโภค

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำโครงการแรกที่กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างเพื่อสนองพระราชดำริ คือ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเก็บกักน้ำให้ราษฎรใช้บริโภคและอุปโภค

ในรัชสมัยนี้ มีการก่อสร้างเขื่อนจำนวนมากด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน ได้แก่ การก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อปีพุทธศักราช 2499 เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก และการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในปีพุทธศักราช 2501 และ 2506 ตามลำดับ เพื่อประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ในการสูบน้ำเก็บกักน้ำเพื่อการเพาะปลูกและเพื่อบรรเทาอุทกภัยด้านวิศวกรรมการเกษตรนั้น ทรงพระราชทานพระราชดำริให้ออกแบบประดิษฐ์เครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการเกษตรขึ้นหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ เครื่องเจาะข้อกระบอกไม้ไผ่ เครื่องสีข้าวใช้แรงคน เครื่องนวดข้าวใช้แรงคน เครื่องสูบน้ำพลังน้ำ 5 รูปแบบ ฯลฯ


ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ในการจัดการด้านอนุรักษ์สภาพแวดล้อม โดยใช้วิธีการง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและระบบนิเวศน์ พระองค์ท่านทรงโปรดที่จะทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย อย่างเช่น หลักการบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจาง (Dilution) หรือ น้ำดีไล่น้ำเสีย โดยใช้หลักการตามธรรมชาติ แห่งเร่งโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) โดยรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจากแหล่งน้ำภายนอกส่งเข้าไปตามคลองต่างๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ และ คลองบางลำพู ฯลฯ เป็นต้น หรือดังเช่น การบำบัดน้ำเสียโดยการใช้ผักตบชวา (Filtration) ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติให้ดูดซับสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำให้บรรเทาลง ณ บึงมักกะสัน หรือใช้อธรรมปราบอธรรม นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียโดยใช้กระบวนการทางชีวศึกษา ผสมผสานกับเครื่องกลเติมอากาศแบบ “สระเติมอากาศชีวภาพบำบัด” (Aerated Lagoon) ณ บึงพระราม 9

จึงได้มีการออกแบบและสร้างเครื่องกลเติมอากาศขึ้น 9 รูปแบบ คือ RX – 1 – RX – 9 และที่รู้จักกันทั่วไป คือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” RX – 2

พระราชกรณียกิจ และพระราชดำริ ด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ นี้ นับเป็นพระปรีชาสามารถของพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าออยู่หัว ยากที่หาผู้ใดเสมอเหมือน เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติคุณทั่วทิศานุทิศ ดังที่มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายรางววัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยประจำพุทธศักราช 2537 เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณ อีกทั้งเพื่อเป็นเกียรติและสิริมงคลอันสูงค่าแก่วงการวิทยาศาสตร์ไทยสืบไป

เมื่อปีพุทธศักราช 2537 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับนิตยสาร ไซแอนติฟิก อเมริกัน ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับประเทศไทยและได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้คณะบรรณาธิการของนิตยสารฉบับนี้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานสัมภาษณ์พระราชดำริด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสมีดังนี้

“ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ควรเป็นข้อมูลที่ประชาชนสามารถนำมาเป็นบรรทัดฐาน ประกอบการตัดสินใจในปัญหาต่างๆ มากกว่าจะใช้อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการอนุรักษ์ดิน หรือปัญหาการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์”


ด้านวิจัยและพัฒนา

จากการที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาประเทศมากมายทำให้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีคือการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์เพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ดังนั้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีความสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงลักษณะของภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีพื้นบ้าน ความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาการทำให้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้น และด้วยเหตุนี้จึงมีการออกพระราชบัญญัติจัดตั้งหน่วยงาน เพื่อรับผิดชอบ ได้แก่ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นต้น ด้านการพัฒนาบุคลากร มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการให้ทุนทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยียังต่างประเทศในหลายด้าน เช่น การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม การใช้พลังงานปรมาณู เพื่อการถนอมอาหาร การศึกษาและการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้พลังงานปรมาณูเป็นแหล่งของพลังงานไฟฟ้าในอนาคต

ผลงานการพัฒนาตามแนวพระราชดำรินั้น ได้ปรากฏอย่างชัดเจนแล้วในปัจจุบัน กล่าวคือ ประชาชนเหล่านั้นมีสภาพชุมชน และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยพระราชอัจฉริยภาพ และสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระองค์แล้ว ยังมีสถาบันการศึกษาต่างๆ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสาขาต่างๆ รวมแล้ว 192 ปริญญา แยกเป็นปริญญาสาขาทางวิทยาศาสตร์ 82 ปริญญา วิศวกรรมศาสตร์ 16 ปริญญา สาขาอื่น เช่น สังคมศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ ดนตรี นิติศาสตร์ อีก 94 ปริญญา

จึงสมควรแล้วที่จะเทิดทูนว่า พระองค์ คือ พระมหากษัตริย์นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่ ในโลกปัจจุบัน