ข้าว

รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:06, 29 กันยายน 2552 โดย Haiiwiki (คุย | มีส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
 

โครงการส่วนพระองค์


พุทธศักราช ๒๕๐๔: จัดตั้งโครงการส่วนพระองค์ขึ้นในสวนจิตรลดา

ทรงจัดตั้งโครงการส่วนพระองค์ขึ้นในสวนจิตรลดา เพื่อที่จะได้ทรงศึกษาหาข้อมูลต่างๆ ก่อนพระราชทานพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๔ ได้ทรงหว่านข้าวใน "แปลงนาสาธิต" เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปีต่อไป
ในหลวงทรงหว่านข้าวในนาในโครงการส่วนพระองค์
ทรงขับรถไถนา
ในปีแรกได้ทรงขับควายเหล็ก ทรงหว่านข้าวและเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง ทรงเข้าพระทัยถึงความยากลำบากของชาวนา ดังปรากฎอยู่ในพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ความตอนหนึ่งว่า
"... ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้น มีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องได้วิชาการต่างๆ ด้วย จึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่ง ที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรปลูกพืชอื่นๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้นเหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป..."
สำหรับพันธุ์ข้าวที่ทรงปลูกพระราชทานเพื่อนำไปแจกจ่ายให้พสกนิกรทั่วประเทศรับไปเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕ สุพรรณบุรี ๑ ปทุมธานี ๑ พัทลุง หอมพิษณุโลก ๑ กข ๑๖ ดอกพยอมและชิวจัน ส่วนพันธุ์ข้าวที่พระราชทานให้กรมวิชการเกษตรไปใช้ในพระราชพิธีคือ พันธุ์ข้าวดอกมะลิ ๑๐๕


พุทธศักราช ๒๕๑๔: โรงสีข้าวสวนจิตรลดา

ในหลวงเสด็จโรงสีข้าวตัวอย่าง

วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๔ เริ่มกิจการโรงสีข้าวตัวอย่างในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยกำเนิดการในแบบสหกรณ์ และทำการสีข้าวเปลือกเอง แทนที่จะต้องซื้อข้าวสารมาบริโภค

ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริให้นำไปสู่การปฏิบัติในหมู่เกษตรกร จะทรงทดลองปฏิบัติเป็นการทดสอบจนแน่พระราชหฤทัยก่อน ดังเช่น เรื่องโรงสีข้าว ซึ่งปรากฎว่า เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้บุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงสีข้าวและค่าใช้จ่ายในการสีข้าว จากนั้นจึงให้จัดตั้งโรงสีข้าวตัวอย่างขึ้นในบริเวณสวนจิตรลดา โดยให้ดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์ ทำการจัดซื้อข้าวเปลือกในราคาเป็นธรรมเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์โรงสีข้าวตัวอย่าง ได้บริโภคข้าวสารในราคาที่เหมาะสม รูปแบบโรงสีข้าวตัวอย่างดังกล่าวนี้ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาและใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของโรงสีข้าวขนาดเล็กในพื้นที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่น โรงสีข้าวที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนรคศรีอยุธยา และนิคมสหกรณ์ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ โรงสีข้าวพระราชทานที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก โรงสีข้าวเกษตรเบ็ดเสร็จตามพระราชดำริ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและโรงสีข้าวพระราชทาน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการศึกษาพัฒนาและปรับปรุงเครื่องสีข้าวขนาดเล็กพระราชทานให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันใช้ประโยชน์ในชนบทอีกหลายพื้นที่ เพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการลดการตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนเพื่อนำวัสดุเหลือใช้จากโรงสีมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อปี ๒๕๒๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงบดแกลบขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับโรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา เพื่ออัดแกลบเป็นเชื้อเพลิงแท่งสำหรับใช้แทนถ่าน ทั้งยังได้ทดลองผสมแกลบบดกับผักตบชวา โดยทดลองนำแกลบที่อัดแล้วไปเผาให้เป็นถ่าน ปรากฎว่าผลิตภัณฑ์จากการทดลองเหล่านี้เป็นที่นิยมเป็นอย่างดี ส่งผลต่อความสำเร็จดังพระราชประสงค์

เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสถึงโรงสีข้าวว่า


ผลผลิตข้าวหอมมะลิจากโครงการส่วนพระองค์

"เมื่อตั้งโรงสีปลูกข้าวเองบ้างและไปซื้อข้าวจากเกษตรกรบ้าง นำมาสีและขายในราคาที่เหมาะสมเป็นในรูปสหกรณ์ ที่ทำที่สวนจิตรลดานี้ไม่ได้ใช้ข้าวที่ปลูกในสวนจิตรลดา เพราะว่าข้าวที่ปลูกในสวนจิตรลดาเอาไปทำพิธีแรกนาขวัญ ข้าวที่โรงสีนี้เป็นข้าวที่ไปซื้อจากเกษตรกรโดยตรง โดยให้ราคาที่เหมาะสม เกษตรกรก็มีความสุข เพราะขายข้าวในราคาที่เหมาะสมและผู้บริโภคก็ซื้อได้ในราคาถูกเพราะว่าไม่ต้องมีการขนส่งมากเกินไป ไม่ต้องมีคนกลางมากเกินไป ตกลงทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคก็มีความสุข"


  • โครงการส่วนพระองค์ - โรงสีข้าวตัวอย่าง

http://kanchanapisek.or.th/kp1/data/28/index.html

  • กรมการข้าว - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

http://www.ricethailand.go.th/rkb/data_002/rice_xx2-02_New_index.html



**ข้อมูลจาก หนังสือ ๘๐ ทศวรรษแห่งการพัฒนา จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ