พลังงานทดแทน

รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:53, 1 ตุลาคม 2552 โดย Haiiwiki (คุย | มีส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
 


พลังงานทดแทน

พลังงานทดแทน หมายถึง พลังงานที่ผลิตขึ้นใช้แทนพลังงานเชื้อเพลิง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ พลังงานทดแทนที่ใช้แล้วหมดไปหรือพลังงานสิ้นเปลือง เช่น พลังงานถ่านหิน พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานหินน้ำมัน พลังานทายน้ำมัน ฯลฯ และพลังงานทดแทนที่ไม่มีวันหมดหรือนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวลซึ่งได้จากอินทรีวัตถุในธรรมชาติที่นำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ เช่น แกลบ ชานอ้อย เปลือกไม้ กากปาล์ม ซังข้าวโพด ฯลฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ด้วยในภาคการเกษตรมีการใช้พลังงานเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ เครื่องไถนา เครื่องสูบน้ำ เครื่องกลเรือ ดังนั้นพระองค์ได้ทรงคิดค้นพลังงานด้านอื่นๆ นอกจากน้ำมันเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตและสามารถผลิตพลังงานขึ้นมาใช้เองได้ อีกทั้งยังมีพระราชดำริว่าในอนาคตพลังงานจะขาดแคลน ทั้งพลังงานจากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเป็นสถานที่ริเริ่มโครงการผลิตพลังงานทดแทน หลายโครงการ เช่น


โครงการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง (แกลบอัดแท่ง)

แกลบอัดแท่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ ว่าควรมีการนำแกลบมาใช้งานให้เป็นประโยชน์ทั้งด้านการทำเป็นปุ๋ยสำหรับปรับปรุงสภาพดิน และทำเป็นเชื้อเพลิงซึ่งจะช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งโดยปกตินั้นหลังการสีข้าวจะได้แกลบซึ่งนิยมใช้เป็นอาหารสัตว์และทำเป็นปุ๋ยหรือเชื้อเพลิงได้ตามความต้องการ การใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงนั้นจะพบว่ามีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้ได้มีการทดลองนำแกลบมาอัดให้เป็นแท่งและแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงแท่ง เมื่อปี ๒๕๒๓ โดยได้รับความร่วมมือในการวิจัยและค้นคว้าจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในการนำแกลบที่ได้จากโรงสีข้าวตัวอย่างในสวนจิตรลดามาทดลองใช้งาน แกลบที่นำมาถูกเลือกใช้เฉพาะส่วนที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ ๑๐ ขั้นตอนการผลิตเริ่มจากการขับแกลบให้ไหลผ่านสกรู แล้วจะมีเครื่องทำหน้าที่บดแกลบให้ละเอียดและทำให้แน่นผ่านกระบอก โดยกระบอกจะถูกเผาด้วยเศษแกลบอัดแท่งที่ความร้อนประมาณ ๒๕๐-๒๗๐ องศาเซลเซียส และเนื่องจากวัสดุแกลบประกอบด้วยสารเซลลูโลส ลิกนิน และคาร์โบไฮเดรด ดังนั้นเมื่อสารเซลลูโลสถูกความร้อนจากกระบอกสารเซลลูโลสจะหลอมละลาย และเคลือบด้านนอกแท่งแกลบให้แข็ง ทำให้แกลบเกาะกันเป็นแท่ง


โครงการเกี่ยวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ หมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการผสมแอลกอฮอล์เข้ากับน้ำมันเบนซิน งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๘ จากพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจเยี่ยมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยให้ทำการศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอลจากอ้อย เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตที่อาจจะเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนหรือราคาอ้อยตกต่ำ

ทั้งนี้การผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อยตามพระราชดำริเริ่มดำเนินการในอาคารโครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙ โดยสามารถผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ความบริสุทธิ์ ๙๑% ได้ในอัตรา ๒.๘ ลิตรต่อชั่วโมง ต้นทุนการผลิต ๕๖.๒ บาทต่อลิตร ขณะที่เอทิลแอลกอฮอล์ความบริสุทธิ์ ๙๕% ซึ่งผลิตจากกากน้ำตาลของกรมสรรพสามิตจำหน่ายในราคาประมาณ ๒๔ บาทต่อลิตร

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงงานผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงที่บริษัทสุราทิพย์ จำกัด น้อมเกล้าฯ ถวายและดำเนินกลั่นตลอดมาจนถึงปัจจุบันกำลังผลิตหอกลั่น ๒๕ ลิตรต่อชั่วโมง จากนั้นเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๙ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าฯ ถวายสถานีบริการแก๊สโซฮอล์เพื่อให้ความสะดวกกับรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา จนถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับโครงการส่วนพระองค์ฯ ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพของแอลกอฮอล์ที่ใช้เติมรถยนต์ โดยให้โครงการฯ ส่งแอลกอฮอล์ ๙๕% ไปกลั่นซ้ำเป็นแอลกอฮอล์ ๙๙% ที่สถาบันวิจัยฯ แล้วนำกลับมาผสมกับเบนซินธรรมดาเป็นแก๊สโซฮอล์เติมให้กับรถยนต์ของโครงการฯ ที่ใช้เบนซินเป็นเชื้อเพลิง โดยสามารถเติมแก๊สโซฮอล์ได้จากสถานีบริการของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่ตั้งอยู่บริเวณโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

ปัจจุบันโครงการแก๊สโซฮอล์ใช้แอลกอฮอล์ ๙๙% ผสมกับเบนซินธรรมดาในอัตราส่วน ๑:๙ และเติม corrosion inhibitor (สารเคมีประเภทอะมีนและกรดอินทรีย์ ๑๕ มิลลิกรัมต่อแก๊สโซฮอล์ ๑ ลิตร)

นอกจากนั้นในปี ๒๕๔๑ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับโครงการส่วนพระองค์ฯ ดำเนินโครงการดีโซฮอล์ซึ่งนำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลด้วย

การนำอ้อยมาแปรรูปเป็นเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนนับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาในภาวะน้ำมันขาดแคลนที่อาจจะเกิดขึ้น ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินทุนวิจัยในขั้นต้น เพื่อใช้ในการดำเนินงานในการจัดสร้างอาคารและอุปกรณ์ต่างๆ จำนวน ๙๒๕,๕๐๐ บาท ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาเพื่อหาวิธีการที่จะนำพลังงานดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป


โครงการเกี่ยวกับน้ำมันดีโซฮอล์

โครงการดีโซฮอล์ที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๑ โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยร่วมกับโครงการส่วนพระองค์ฯ ทดลองผสมเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๕ กับน้ำมันดีเซลและสารอีมัลซิไฟเออร์ (เป็นสารที่มีคุณสมบัติทำให้แอลกอฮอล์กับน้ำมันดีเซลผสมเข้ากันได้โดยไม่แยกชั้น ประกอบด้วยสาร PEOPS และ SB ๔๐๓) ในอัตราส่วน ๑๔.๘๕ : ๑ ดีโซฮอล์ที่ได้สามารถนำไปใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล เช่น รถกระบะ และรถเทรลเลอร์ของโครงการส่วนพระองค์ เป็นต้น ผลการทดลองพบว่าสามารถ ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ดีพอสมควร ทั้งยังลดควันดำได้ปริมาณร้อยละ ๕๐



ข้อมูลจาก หนังสือ ๘๐ พรรษา ปวงประชาสุขศานต์ จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ