พระราชประวัติ

รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:55, 19 มีนาคม 2551 โดย Haiiwiki (คุย | มีส่วนร่วม) (New page: '''พระราชประวัติ''' <div class="kindent">พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบอร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๓ ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช

พระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมนี

เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ได้ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์ เดอี กรุงเทพมหานคร และในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออิส โรมองด์ เมืองแชลลี-ซือ-โลซานน์ (Ecole Nouvelle de la Sussse Romande, Chailly-sur-Lausanne) และทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิทยาศาสตร์

หลังจากที่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ แล้ว โดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๘๑

กล่าวกันว่า การเสด็จนิวัตพระนครครั้งนี้ เป็นการปลุกความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่หยั่งรากลึก ในสังคมไทยมายาวนานให้ตื่นขึ้นหลังจากที่บ้านเมืองได้ขาดองค์พระประมุขมานานถึง ๓ ปี มีการรื้อฟื้นพระราชประเพณีและขนบธรรมเนียมต่างๆ ที่ว่างเว้นไปนานขึ้นมา การได้ชื่นชมพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เล็กๆ น่ารัก น่าเอ็นดู และสมเด็จพระราชอนุชาที่ประดุจฝาแฝด ทำให้ประชาชนเบิกบานแช่มชื่น และเพิ่มพูนความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นต่อพระองค์

จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๘ จึงโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่ ๒ ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมสำเพ็งโดยการเสด็จฯ ในครั้งนี้เป็นเรื่องเล่ากันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะไม่ใช่การเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมธรรมดา แต่เป็นการเสด็จฯ เพื่อระงับข้อพิพาท ประสานรอยร้าว ระหว่างชาวจีนและชาวไทย

จนกระทั่งวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน คณะรัฐบาลกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอดุลยเดช ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมพรรษาเพียง ๑๙ พรรษา เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงต้องเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ในครั้งนี้ทรงเปลี่ยนแปลงแขนงวิชาที่กำลังทรงศึกษา เพื่อให้เหมาะสมและประโยชน์แก่การปกครองประเทศในอนาคต

พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๔๙๒ ทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเปลี่ยนแนวการศึกษาของพระองค์จากสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม เป็นสาขาวิชาเกี่ยวกับการปกครอง เช่น กฎหมาย อักษรศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เป็นต้น

ในช่วงที่ทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศได้ทรงมีโอกาสใช้ชีวิตอย่างธรรมดา เรียบง่าย ใกล้ชิดกับสามัญชน และทรงศึกษาเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในทุกระดับชั้น ทรงทุ่มเททั้งพระวรกายและ พระสติปัญญาในการศึกษาอย่างเต็มพระกำลัง ทั้งนี้ ก็เพื่อทรงเตรียมพระองค์ ในการที่จะทรงเป็นประมุขของประเทศ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่าพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในวันมหามงคลนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานปฐมบรมราชโองการแก่ประชาชนชาวไทยว่า

"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายชัยมงคล และทรงมีพระราชดำรัสตอบความตอนหนึ่งว่า "ขอให้ท่านทั้งหลายจงเชื่อเถิดว่า ข้าพเจ้ามีความอาลัยห่วงใย และตั้งใจที่จะทำนุบำรุงความสุข ความเจริญให้เกิดแก่อาณาประชาราษฎร์ชาวไทยโดยจริงใจอยู่เสมอ หากแต่ในขณะนี้ข้าพเจ้ายังอยู่ในระหว่างที่ยังต้องได้รับการพิทักษ์รักษาของแพทย์ เพื่อให้กลับมีสุขภาพและอนามัยสมบูรณ์ จึงจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้ที่ได้ทำการรักษาข้าพเจ้ามาแต่ต้นนั้นต่อไปอีกก่อน และในโอกาสนั้นก็จะได้ศึกษาและดูกิจการไปด้วย เพื่อจะได้นำมาประกอบความดำริในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ข้าพเจ้ารู้สึกจับใจมากที่ท่านทั้งหลายได้ต้อนรับข้าพเจ้าตั้งแต่วันที่ได้กลับสู่พระนคร และยิ่งมาได้เห็นไมตรีจิตอันสำแดงแก่ข้าพเจ้าในวันนี้ ก็ยิ่งมีความปลาบปลื้มเป็นทวีคูณด้วยความโสมนัสยินดี"