ฝนหลวง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ในหลวงของเรา" ในฐานะที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งฝนหลวง ทรงใช้ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในพระองค์ ค้นคว้า ศึกษา และประยุกต์เทคโนโลยีต่างๆ จนเกิดเป็นฝนหลวง เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งสงเคราะห์แก่พสกนิกร
ฝนหลวง4.jpg



ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล กอปรกับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” หรือ “ฝนเทียม” จึงเกิดขึ้นเมื่อกึ่งศตวรรษที่แล้ว และเป็นคำติดหูคนไทยเรื่อยมา ถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการทำฝนเทียมโดยพระเจ้าแผ่นดินทรงลงพระหัตถ์ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของ “พวกเรา” เหล่าพสกนิกรชาวไทยจากปัญหาความแห้งแล้งของผืนดินและแหล่งน้ำ ที่สร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละปี

นานเท่าใดแล้วที่ฝนหลวงชโลมความชุ่มชื่นสู่ผืนดิน...

โครงการพระราชดำริฝนหลวง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งฝนหลวง” เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ย่านบริเวณเทือกเขาภูพาน โดยทรงสังเกตว่ามีปริมาณเมฆมากปกคลุมเหนือพื้นที่ระหว่างเส้นทางบิน แต่ไม่สามารถรวมตัวจนเกิดเป็นฝนตกได้ทั้งที่เป็นช่วงฤดูฝน ทำให้หลายพื้นที่ต้องประสบปัญหาแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากปัญหาฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนาน ขณะที่ความต้องการใช้น้ำกลับเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมการเกษตร และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำต่างๆ มีไม่เพียงพอ
ทรงใช้หลักวิทยาศาสตร์ ให้กำเนิด “ฝนหลวง” แก้ปัญหาน้ำแล้ง
ข้อมูลจากโครงการพระราชดำริฝนหลวง ระบุว่า จากความห่วงใยในพสกนิกร กอปรกับคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตและวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้น และได้มีพระราชดำริแก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ว่าจะทรงค้นหาวิธีการที่จะทำให้เกิดฝนตกนอกเหนือจากที่ได้รับจากธรรมชาติ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์กับทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดศักยภาพของการเป็นฝนได้

ด้วยเหตุนี้ “ฝนหลวง” หรือ “ฝนเทียม” จึงเกิดขึ้น โดยการประยุกต์ผลการวิจัยค้นคว้าทางวิชาการด้านฝนเทียมของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอิสราเอล ภายใต้การพระราชทานข้อแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดตั้ง “สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง” ขึ้นเพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานฝนหลวงจวบจนปัจจุบัน

ทั้งนี้ พระองค์ทรงจำแนกการทำฝนเทียมว่ามี 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

ขั้นตอนที่ 1 “ก่อกวน” เป็นการกระตุ้นให้เมฆรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเพื่อใช้เป็นแกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝนในระยะต่อมา สารเคมีที่ใช้ได้แก่ แคลเซียมคลอไรด์ แคลเซียมคาร์ไบด์ แคลเซียมออกไซด์ หรือส่วนผสมระหว่างเกลือแกงกับสารยูเรีย หรือสารผสมระหว่างสารยูเรียกับแอมโมเนียไนเตรต ซึ่งสารผสมดังกล่าวจะก่อให้เกิดกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำในอากาศ

ขั้นตอนที่ 2 “เลี้ยงให้อ้วน” ใช้สารเคมี คือ เกลือแกง สารประกอบสูตร ท.1 สารยูเรีย แอมโมเนียไนเตรต น้ำแข็งแห้ง และอาจใช้สารแคลเซียมคลอไรด์ร่วมด้วยเพื่อให้เกิดแกนเม็ดไอน้ำให้กลุ่มเมฆมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น

ขั้นตอนที่ 3 “โจมตี” สารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนนี้เป็นสารเย็นจัด คือ ซิลเวอร์ไอโอได และน้ำแข็งแห้งเพื่อให้เกิดภาวะไม่สมดุลมากที่สุด ซึ่งจะเกิดเป็นเม็ดน้ำที่มีขนาดใหญ่มากและตกลงเป็นฝนในที่สุด

ข้อควรระวังข้อหนึ่งในการทำฝนเทียม คือ ในทุกขั้นตอนจะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์การตัดสินใจที่จะเลือกใช้สารเคมีในปริมาณที่พอเหมาะ และต้องคำนึงถึงสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ ทิศทางและความเร็วของลม ตลอดจนการกำหนดบริเวณหรือแนวพิกัดที่จะโปรยสารเคมีด้วย

ทรงห่วงใยนักบิน แนะแนวคิด “จรวดฝนเทียม” พระราชทานแก่ชาวบ้านพื้นที่สูงได้พึ่งตัวเอง
ในอีกทางหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัยพัฒนาฝนหลวงหลายประการ คือ 1. สร้างจรวดฝนเทียมบรรจุสารเคมีจากพื้นดินเข้าสู่ก้อนเมฆ หรือยิงจากเครื่องบิน และ 2. การใช้เครื่องพ่นสารเคมีอัดแรงกำลังสูงจากยอดเขาสู่ฐานของก้อนเมฆโดยตรง เพื่อช่วยให้เมฆที่ลอยปกคลุมอยู่เหนือยอดเขาสามารถรวมตัวหนาแน่น จนเกิดฝนตกลงในบริเวณหรือพื้นที่ใต้ลมของภูเขา
นายชอบวิทย์ ลับไพรี รองเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเคยสนองงานในพระองค์เมื่อปี พ.ศ.2530 ในโครงการสร้างจรวดฝนเทียม เล่าว่า พระราชประสงค์ของโครงการจรวดฝนเทียมนี้ก็เพราะทรงเล็งเห็นว่า จรวดฝนเทียมสามารถใช้ทดแทนการใช้นักบินนำเครื่องบินขึ้นไปโปรยสารฝนหลวง ซึ่งเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายได้ ซึ่งนอกจากพระเมตตานี้แล้ว หากสามารถค้นคว้าวิจัยจนสร้างจรวดฝนเทียมได้ไม่ยากจนเกินไปนัก ก็น่าจะถ่ายทอดวิธีการผลิตให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่สูงตามเทือกเขาได้ใช้ทำฝนเทียมด้วยตัวเอง เป็นการพึ่งพาตัวเองต่อไป
ทั้งนี้ บทบาทของฝนหลวงสรุปได้ 4 ประการสำคัญ คือ

1.เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตรช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงยาวนาน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนลดลง

2.เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเป็นการเสริมสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำในบริเวณแม่น้ำที่ตื้นเขิน

3.เพื่อป้องกันและบำบัดภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม โดยฝนหลวงจะเข้าเจือจางน้ำเสียอันเกิดจากการระบายน้ำเสียและขยะมูลฝอยสู่แม่น้ำเจ้าพระยาลงได้

4.เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

สร้างความมั่นใจ “น้ำฝนหลวง” บริโภคได้ พระราชทาน “สารฝนหลวง – ตำราฝนหลวง”
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ทรงมีพระราชดำริให้มีฝนเทียมเท่านั้น ความห่วงใยในพสกนิกรในพระองค์ยังครอบคลุมไปถึงความเชื่อมั่นในฝนหลวง เนื่องจากในการทำฝนหลวงต้องอาศัยสารเคมีหลายชนิด ซึ่งประชาชนอาจหวาดหวั่นไม่กล้านำน้ำที่ได้ไปใช้ด้วยเกรงว่าสารเคมีในกระบวนการทำฝนหลวงจะมีอันตรายเมื่อนำไปอุปโภคบริโภคหรือไม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานคำว่า “สารฝนหลวง” สำหรับใช้เรียกสารเคมีต่างๆ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดดังกล่าว ทั้งที่แท้จริงแล้วสารเคมีที่ใช้ในการทำฝนหลวงล้วนแต่เป็นสารเคมีใกล้ตัวและสามารถพบเห็นตามครัวเรือนหรือใช้ในภาคการเกษตรทั่วไป ซึ่งเราอาจคาดไม่ถึงว่าเป็นสารฝนหลวง
ยกตัวอย่างเช่น “เกลือแกง” หรือโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งเป็นเครื่องปรุงหลักในการประกอบอาหาร “ยูเรีย” สารที่เรามักใช้ในการทำปุ๋ย หรือที่รู้จักกันดี คือ ปุ๋ยยูเรียสำหรับพืช ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อพืช สัตว์ และคน โดยในปัสสาวะของคนเราก็มียูเรียเช่นกัน ซึ่งเมื่อมีการโปรยสารเคมีเพื่อทำฝนเทียม สารเคมีเหล่านี้ยังจะเจือจางในบรรยากาศและมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝน ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าน้ำฝนที่ได้จากฝนหลวงจะมีความบริสุทธิ์ไม่แตกต่างจากน้ำฝนธรรมชาติเลย
ไม่เพียงเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระบิดาแห่งฝนหลวง ยังทรงประดิษฐ์ภาพ “ตำราฝนหลวง” ด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อแสดงขั้นตอนและกรรมวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนจากเมฆอุ่นและเมฆเย็น พระราชทานแก่นักวิชาการฝนหลวงถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกันเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2542 ด้วย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้นี้ ดร.เกษม จันทร์แก้ว คณบดีวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า โครงการพระราชดำริฝนหลวงหรือฝนเทียมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวได้ว่า เป็นที่เดียวในโลกที่ทำและทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วโลก แม้ว่าการทำฝนเทียมจะเริ่มขึ้นในต่างประเทศ แต่พระองค์ก็ทรงมีเทคนิคการทำฝนเทียมเป็นแบบฉบับเฉพาะของพระองค์เอง ซึ่งต่างประเทศไม่มี และทรงทำได้ดีกว่า โดยในโครงการดังกล่าว พระองค์ทรงใช้ความพยายามมาก ทรงทำเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงไม่ดูดายในเรื่องทรัพยากรน้ำของประเทศ ตามที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “น้ำคือชีวิต”
“สิ่งที่ผมประทับใจในพระองค์ คือ การที่พระองค์ทรงทำในสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้นได้ ไม่มีน้ำก็ทำให้มีน้ำ แถมยังควบคุมเวลาและสถานที่ที่ตกได้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าเราจะควบคุมเรื่องเหล่านี้ได้ หากมีโอกาสได้ฟังข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น ซีเอ็นเอ็น ก็จะทราบว่าเขากล่าวถึงในหลวงของเราด้วยน้ำเสียงที่ยกย่องพระองค์มาก และเมื่อพูดถึงพระองค์ในฐานะที่เป็น King of Thailand แล้ว คนทั่วโลกก็จะรับรู้และยอมรับพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นนักคิดที่คิดเก่งมากๆ แถมทรงทำได้ โดยทำได้เรียบร้อย และไม่วุ่นวาย” ดร.เกษม กล่าวทิ้งท้ายด้วยความปลื้มปีติในพ่อหลวงผู้ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อคนไทยเสมอมา
“ฝนหลวง” จึงเป็นหนึ่งสายน้ำที่ฉ่ำเย็นเสมอสำหรับคนไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงใช้พระสติปัญญา พระวิริยะที่ไม่ย่อท้อ และพระปรีชาญาณในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรงงานหนักเพื่อสงเคราะห์คนไทยตลอด 60 ปีที่ทรงครองราชย์ แม้ว่าปัญหาที่ทรงประสบจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ ซึ่งคนทั่วไปจะเมินหน้าหนีตั้งแต่แรกเห็น ทว่าพระองค์กลับมุ่งพระทัยมั่นที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ จึงทรงเป็นแบบอย่างให้แก่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไทยเรื่อยมา ซึ่งสาเหตุที่ค้ำจุนให้พระองค์ทรงมีความมุ่งมั่นถึงเพียงนี้ ก็น่าจะเป็นเพราะ “พระปณิธานที่จะทรงงานเพื่อประชาชนของพระองค์” นั่นเอง



แหล่งข้อมูล โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 มิถุนายน 2549