ค-โครงการหลวง

 
เป็นโครงการที่เริ่มต้นจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามภูเขาของภาคเหนือ ในพุทธศักราช ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบว่าป่าไม้ต้นน้ำลำธารถูกทำลายเป็นจำนวนมาก สาเหตุจากการทำไร่เลื่อนลอยของชาวไทยภูเขา ทรงตระหนักว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากความไม่รู้และความยากจนที่สะสมมาเป็นเวลานาน


โครงการหลวง
ในปีเดียวกันนี้ จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่ข้าราชบริพารและนักวิชาการเกษตรให้คิดค้นวิธีการปลูกพืชผักผลไม้ รวมทั้งเห็ดเมืองหนาวตลอดจนดอกไม้นานาพรรณที่สามารถเพาะปลูกได้ดีในสภาพภูมิประเทศของภาคเหนือ เพื่อแนะนำให้ชาวไทยภูเขาเปลี่ยนทัศนคติจากการปลูกฝิ่นซึ่งเป็นที่มาของความเสื่อมโทรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและเป็นยาเสพติดที่บ่อนทำลายประเทศชาติ มาสู่โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขาในพุทธศักราช ๒๕๑๒ โดยมีพระราชประสงค์สำคัญคือ เพื่อรักษาพื้นที่ต้นน้ำลำธารบริเวณป่าเขาในภาคเหนือ และชักชวนชาวเขาให้เกิดความรู้สึกรักในถิ่นฐานที่อยู่และร่วมกันรักษาความมั่นคงของประเทศ ด้วยโครงการตามพระราชดำริที่มีคุณูปการต่อมนุษยชาตินี้ องค์กรต่างประเทศจึงได้ร่วมส่งความช่วยเหลือแก่โครงการหลวงจนกลายเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชาวไทยภูเขาขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมงานตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๔ โดยมีประเทศต่างๆ ให้ความสนับสนุนช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ เช่น ไต้หวันให้การสนับสนุนด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ งบประมาณ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สหรัฐอเมริกาสนับสนุนด้านเงินทุนสนับสนุนการวิจัย

จวบจนพุทธศักราช ๒๕๓๕ ได้จัดตั้ง มูลนิธิโครงการหลวง เพื่อนำเงินจากมูลนิธิมาสนับสนุนโครงการหลวงให้ดำเนินต่อไปได้อย่างสม่ำเสมอ และมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ สะดวกรวดเร็วมากขึ้น มีอาสาสมัครทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยและหน่วยราชการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการในหลายด้าน ปัจจุบันการดำเนินงานของมูลนิธิครอบคลุมหมู่บ้านชาวเขา ๑๒๖ แห่ง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา ปฏิบัติงานในลักษณะโครงการนำร่อง การริเริ่มงานใหม่ การพัฒนาทางสังคม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการตลาด เป็นระบบการพัฒนาแบบครบวงจร ประกอบด้วยสถานีวิจัย ๔ แห่ง คือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ สถานีเกษตรหลวงปางดะ และสถานีเกษตรหลวงแม่หลอด

สถานีเกษตรหลวงเหล่านี้มีหน้าที่สำคัญคือ งานด้านวิจัย คิดค้น และปรับปรุงสายพันธุ์ ส่วนสาขาของสถานีเกษตรหลวงในพื้นที่ต่างๆ เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง มุ่งงานส่งเสริมเป็นหลัก กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ จำนวน ๓๘ แห่ง โดยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ๒๙ ศูนย์จังหวัดเชียงราย ๕ ศูนย์ จังหวัดลำพูน ๑ ศูนย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๒ ศูนย์ จังหวัดพะเยา ๑ ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น ๒,๑๒๑.๔๒ ตารางกิโลเมตร มีราษฎรในความดูแลจำนวน ๒๓,๓๓๑ ครัวเรือน หรือจำนวน ๑๒๖,๒๐๐ คน

ราษฎรที่เป็นสมาชิกของโครงการ นอกจากจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่เพื่อการผลิตไม้ผล ไม้ดอก ผัก และพืชสมุนไพรที่มูลนิธิทำการส่งเสริมแล้ว ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับการจัดการดินและที่ดิน การอนุรักษ์ดิน น้ำ และป่าไม้ในรูปแบบต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้อง อันจะนำความยั่งยืนมาสู่ทรัพยากรทั้งในพื้นที่สูงเองและพื้นที่ราบด้านล่าง สมดังพระราชประสงค์ของการตั้งโครงการหลวงที่ทรงเปลี่ยนชาวเขาให้เป็นชาวเรา ปลดเปลื้องปัญหายาเสพติด สร้างความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมได้อย่างวัฒนาถาวร ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ชัดนี้ทำให้มูลนิธิแม็กไซไซมอบรางวัลแม็กไซไซสาขาส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ พุทธศักราช ๒๕๓๑ ให้แก่โครงการหลวงซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติเพื่อประกาศเกียรติคุณถึงคุณูปการอันมากมายของโครงการหลวงจนเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก