ร-โรคเรื้อน

 

พุทธศักราช ๒๔๙๘ โรคเรื้อนระบาด

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรบ้านเมืองในกรุงเทพฯ โรคภัยอีกอย่างหนึ่งที่ทรงพบคือ โรคเรื้อน ผู้ที่เป็นโรคไม่ได้รับการรักษาและอยู่ร่วมกับผู้คนปกติทั่วไป ทรงวิตกด้วยเป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลทุกขเวทนาต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย เนื่องจากถูกผู้คนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวแสดงอาการรังเกียจหวาดกลัว เสมือนผู้ป่วยโรคนี้เป็นอาชญากรที่ต้องถูกจับกุม ส่งผลให้ผู้ป่วยหลบซ่อนตัวไม่ยอมให้ใครมารักษาบำบัดทำให้โรคแพร่ออกไปอีกมาก
เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร สถาบันราชประชาสมาสัย เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๓
เมื่อปี ๒๔๙๘ มีการแพร่ระบาดของโรคเรื้อนเกิดขึ้นอย่างมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดทำโครงการควบคุมโรคดังกล่าวขึ้น ซึ่งตามโครงการดังกล่าวต้องใช้เวลาถึง ๑๒ ปี เพื่อหยุดการระบาดของโรคนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเป็นเวลาที่นานเกินไป จึงทรงให้เร่งรัดโครงการให้เหลือ ๘ ปี และทรงรับโครงการควบคุมโรคเรื้อนของกระทรวงสาธารณสุขไว้เป็นโครงการในพระราชดำริ รวมทั้งให้จัดตั้ง "สถาบันราชประชาสมาสัย" ขึ้นที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อทำหน้าที่ดูแลให้การบำบัดฟื้นฟู และค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อน รวมทั้งฝึกอาชีพให้ผู้ป่วยด้วย และได้พระราชทานเงินทุนอานันทมหิดล สร้างอาคาร ๔ หลัง ในบริเวณสถานพยาบาลพระประแดง เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาอบรมเจ้าหน้าที่ในการบำบัดโรคเรื้อน โดยเริ่มเปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๓ ปัจจุบันตามรายงานสถานการณ์โรคเรื้อนของสถาบันราชประชาสมาสัย เมื่อปี ๒๕๔๘ ปรากฎว่ามีผู้ป่วยโรคเรื้อนมาขึ้นทะเบียนรักษาทั่วประเทศจำนวน ๑,๕๖๐ คน ซึ่งในอดีตจะมีผู้ป่วยโรคนี้ ๕๐ คนต่อประชากร ๑๐,๐๐๐ คน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินส่วนหนึ่งจากทุนอานันทมหิดล ในการจัดสร้างสถาบันค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อนขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๐๑ ณ โรงพยาบาลโรคเรื้อนที่ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พระราชทานนามว่า ราชประชาสมาสัย อันมีความหมายว่าพระราชากับประชาชนร่วมมือกัน เนื่องด้วยมีประชาชนจำนวนมากได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลในการจัดหาทุน และได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินที่เหลือจากการจัดสร้างอาคารแก่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้ในกิจการควบคุมโรคเรื้อนต่อไป อันเป็นที่มาของมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวได้ว่าในช่วงพุทธศักราช ๒๔๙๙ - ๒๕๓๗ การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริได้ขยายออกไปจนครบทุกจังหวัด สามารถรับผู้ป่วยโรคเรื้อนมาขึ้นทะเบียนผู้ป่วยได้เกือบ ๑๗๐,๐๐๐ ราย และบำบัดรักษาจนหายจากโรคจำนวน ๘๓,๙๙๓ ราย ส่วนผู้ป่วยที่แพทย์เห็นว่าหมดเชื้อที่จะติดต่อได้แล้วนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้อยู่ในนิคมต่างๆ ๑๒ นิคมทั่วประเทศและทำงานเกษตรกรรม ทอผ้า จักสาน โดยใช้เงินทุนที่ได้รับจากมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อจำหน่ายผลผลิตได้แล้วจึงนำมาผ่อนชำระให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อไป

สำหรับลูกหลานของผู้ป่วยที่ถูกเลี้ยงแยกออกมาและไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโรงเรียนราชประชาสมาสัยขึ้นที่ตำบลบางจาก อำเภอ พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และทรงติดตามความก้าวหน้าของโรงเรียนตลอดมาจนสามารถจัดตั้งมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย เพื่อสนับสนุนโรงเรียนราชประชาสมาสัย ซึ่งต่อมาได้อยู่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ

สถานการณ์โรคเรื้อนในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง จากการสำรวจอัตราความชุกของโรค (Prevalence Rate : PR) ในพุทธศักราช ๒๕๔๙ เท่ากับ ๐.๑๙/๑๐,๐๐๐ ประชากร โดยมีผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนรักษาทั่วประเทศจำนวน ๑,๑๕๓ ราย เมื่อเทียบกับพุทธศักราช ๒๕๔๘ ที่มีอัตราความชุกของโรคเท่ากับ ๐.๒๕/๑๐,๐๐๐ ประชากรมีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษาทั่วประเทศจำนวน ๑,๕๖๑ ราย

ที่มา: สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค ๒๕๔๙ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 203.157.15.4/Annual49/Part1/28_Leprosy.doc

สถานการณ์โรคเรื้อน สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดนราธิวาส http://sasuk12.com/naratiwat/health_news/news_item.asp?NewsID=29