การใช้พลังงานธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า

 


011009-การคมนาคม-03.jpg

การใช้พลังงานธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มนำเอาพลังงานทดแทนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงต่างๆ ด้วยทรงตระหนักว่าพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่นำมาผลิตไฟฟ้านั้นเป็นสาเหตุใหญ่ในการสร้างมลพิษและนับวันจะมีแต่หมดสิ้นไป ดังนั้นจึงต้องใช้พลังงานชีวภาพซึ่งเป็นพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าทดแทน ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

“...พูดถึงไฟฟ้าและพลังงาน ไฟฟ้าและพลังงานนี่การไฟฟ้าต้องใช้พลังงาน เพราะว่า สำหรับปั่นไฟฟ้าต้องใช้พลังงาน เพื่อให้มีพลังงานไฟฟ้า อันนี้ก็ทำมานานแล้ว เวลาขาดแคลนเชื้อเพลิง ก็บอกว่าให้ปิดโทรทัศน์ ให้ปิดไฟ แล้วบอกได้ผลดี ความจริงเปิดโทรทัศน์ ไม่เป็นไร ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ยังใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มีแต่ต้องขยัน ต้องหาวิธีที่จะทำให้เชื้อเพลิงเกิดขึ้นมาใหม่...”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีแนวพระราชดำริในการนำพลังน้ำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า โดยทรงเน้นการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อเก็บกักน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในชุมชนใกล้เคียง ช่วยเสริมการทำงานของเขื่อนขนาดใหญ่ที่ดำเนินงานโดยภาครัฐ เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ จังหวัดยะลา โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนกลาง โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนพรมธารา โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนห้วยกุ่ม จังหวัดชัยภูมิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำ จังหวัดสระแก้ว โรงไฟฟ้าพลังน้ำไอกะเปาะ จังหวัดนราธิวาส และโรงไฟฟ้าพลังน้ำทุ่งเพล จังหวัดจันทบุรี โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ทำให้ชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มทดลองการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ มาทดแทนการใช้ฟอสซิล ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๑ โดยทรงเริ่มโครงการผลิตแก๊สชีวภาพภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยกรมอนามัยและคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถผลิตแก๊สจากมูลโคสำหรับเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในโรงโคนม นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างโรงกลั่นแอลกอฮอล์ ในพุทธศักราช ๒๕๒๙ เพื่อเป็นโครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชดำริ โดยผลิตแอลกอฮอล์ ๙๕ เปอร์เซ็นต์หรือเอทานอล จากอ้อยและกากน้ำตาล รวมทั้งทรงนำเอทานอลมาผ่านกระบวนการแยกน้ำ ทำให้ได้เอทานอล ๙๙.๕ เปอร์เซ็นต์ มาทดลองผสมกับน้ำมันเบนซินธรรมดาในอัตรา ๑ : ๙ จนเกิดเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล อันเป็นเชื้อเพลิงชนิดใหม่สำหรับเครื่องยนต์เบนซินที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด จังหวัดกระบี่ และที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส จากการทดสอบพบว่า น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลได้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์นำผลงานดังกล่าวไปจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของพระองค์

พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดใหม่ได้เอง หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างสนองตามแนวพระราชดำริ ทั้งการทำวิจัยและส่งเสริมการปลูกพืชน้ำมัน เช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สบู่ดำ ฯลฯ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล พลังงานของชาติต่อไป

พลังงานแสงอาทิตย์
ในส่วนของพลังงานอื่นๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติอันเป็นพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จวบจนเมื่อผลการทดลองเป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นต้นแบบในการนำพลังงานธรรมชาติเหล่านั้นมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เพื่อการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งระบบน้ำ ไฟฟ้าและแหล่งเชื้อเพลิง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง โดยทุกศูนย์ฯ ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อใช้ภายในอาคารสำนักงาน รวมทั้งติดตั้งระบบสูบน้ำจากแหล่งน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคภายในศูนย์ฯ อย่างได้ผลดียิ่ง นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริให้นำสิ่งที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิต เช่น แกลบจากโรงงานสีข้าวหรือแม้แต่วัชพืชอย่างผักตบชวา มาผ่านกระบวนการและอัดแท่งเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงและแหล่งพลังงานต่อไปได้

ทั้งพลังงานน้ำ พลังงานชีวภาพ และพลังงานทดแทนล้วนแล้วแต่เป็นแนวพระราชดำริที่ช่วยลดปริมาณการซื้อกระแสไฟฟ้า ซึ่งเท่ากับช่วยลดภาวะการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้มลพิษที่เกิดจาก การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงได้อีกทางหนึ่ง ตลอดจนไม่ก่อให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม