การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

02/11/2020

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการน้ำในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับจังหวัด ระดับประเทศ และได้ร่วมมือกับสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงแห่งสหประชาชาติ หรือ The United Nations Office for Disaster Risk Reduction (UNDRR) เผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จการดำเนินงานของไทยไปสู่เวทีโลก เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ความร่วมมือระหว่าง สสน. และ สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงแห่งสหประชาชาติ

แถลงการณ์ความร่วมมือ “การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ” (Statement of Cooperation on Science and Technology for Disaster Risk Reduction)

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้ลงนามแถลงการณ์ความร่วมมือ “การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ” (Statement of Cooperation on Science and Technology for Disaster Risk Reduction) ร่วมกับ สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Office for Disaster Risk Reduction) หรือ UNDRR โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จด้านการจัดการทรัพยากรน้ำระดับชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และ ดร. เฟิง มิน คาน (Dr. Feng Min Kan) หัวหน้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (Head Regional Office for Asia-Pacific, UNDRR) เป็นผู้ลงนาม และ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ ดร. โรเบิร์ต กลาสเซอร์ (Dr. Robert Glasser) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Special Representative of the Secretary-General for Disaster Risk Reduction, UNDRR) เป็นสักขีพยานในพิธี

ทั้งนี้ ดร. กลาสเซอร์ ได้กล่าวว่า UNDRR ได้จัดทำกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ หรือ “กรอบเซนได” (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015-2030) เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติของโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติ และมุ่งหวังให้แต่ละประเทศและแต่ละชุมชนสามารถลดความเสียหายที่อาจเกิดจากภัยพิบัติทั้งทางด้านความเป็นอยู่ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำด้านการปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับกรอบการดำเนินงานเซนได มีตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทยในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นทั่วโลกได้ ตัวอย่างเช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างง่ายๆ และเหมาะสมกับชุมชนเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน สามารถแก้ปัญหาน้ำได้ประสบความสำเร็จแล้วในหลายพื้นที่ รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เช่น แก้มลิง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้ามาก สามารถใช้บริหารจัดการได้ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง ประเทศไทยมีประสบการณ์มากมายที่พร้อมจะแบ่งปันให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเตรียมการป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นวาระสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ดร. พิเชฐฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการจัดการกับภัยพิบัติจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ซึ่งทำให้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนการทำงานและการตัดสินใจบริหารจัดการภัยพิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สสนก. พัฒนาระบบเชื่อมต่อและรวบรวมข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เกิดการบูรณาการฐานข้อมูลน้ำและภูมิอากาศของประเทศไทย ให้หน่วยงานต่างๆ ได้ใช้ข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ในปี 2559 ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง ปริมาณฝนน้อยที่สุดในรอบ 34 ปี และปริมาณน้ำใช้การในเขื่อนบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เหลือน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีตัวอย่างความสำเร็จด้านการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชน ที่ สสนก. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ กว่า 30 แห่ง นำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม GPS ใช้สำรวจข้อมูลและวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ร่วมกับการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้ เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน แก้มลิง สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งน้ำท่วม และสามารถขยายผลสำเร็จไปยังชุมชนอื่นได้ ปัจจุบันมีพื้นที่ตัวอย่างการจัดการน้ำในระดับชุมชนมากกว่า 600 ชุมชน ซึ่งพบว่ามากกว่าร้อยละ 98 ของชุมชนเหล่านี้ ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปีนี้ ชุมชนยังมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคและเพาะปลูกในครัวเรือน นับเป็นตัวอย่างของการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน พร้อมที่จะร่วมกันดำเนินการขยายความสำเร็จไปยังประเทศในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย-แปซิฟิก ต่อไป

การลงนามในแถลงการณ์ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้กรอบการดำเนินงานเซนได เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 2015-2030 (The UNDRR Science and Technology Conference on the implementation of the Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015-2030) ระหว่างวันที่ 27–29 มกราคม 2559 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นการประชุมระดับโลกของ UNDRR เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อผลักดันการดำเนินงานภายใต้ Sendai Framework มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย รวมทั้งผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องจากประเทศต่างๆ รวมกว่า 700 คน โดย ดร. พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับเชิญเข้าร่วมการอภิปรายในพิธีเปิดการประชุม ในหัวข้อ Introduction of the Science and Technology Partnership and Road Map for the implementation of the Sendai Framework นำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทยในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และข้อมูล สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมทั้งตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชนของ สสน. ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก ทาง UNDRR จึงได้ทำความร่วมมือกับ สสน. เพื่อร่วมกันเผยแพร่ความรู้ ประสบการณ์ และตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทย ด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

การนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการและลดความเสี่ยงภัยพิบัติด้านน้ำ

23 – 24 สิงหาคม 2559 – สสน. ร่วมกับ UNDRR จัดงานประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 1 (1st Asian Science and Technology Conference for Disaster Risk Reduction – 1ASTCDRR) ณ โรงแรมสวิตโซเทล ปาร์ค นายเลิศ กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับบทบาทของวิทยาศาสตร์ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์  และสถาบันการศึกษา และเผยแพร่แนวทางการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับเอเชีย

นอกจากนี้ สสน. ยังได้นำเสนอและเผยแพร่ความสำเร็จด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการน้ำร่วมกับ UNDRR ในเวทีการประชุมต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชีย และการประชุมระดับโลก


การเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

จากผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมของ สสน. ทำให้ สสน. ได้รับเชิญจาก UNDRR ให้เข้าร่วมคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคนิคสำหรับการใช้ดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ดังนี้

  1. ดร. รอยล จิตรดอน ได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ UNDRR (UNDRR Global Science and Technology Advisory Group) โดยมีวาระ 2 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2561
  2. ดร.สุทัศน์ วีสกุล ได้รับเชิญให้เป็นสมาชิก คณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิชาการ ของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (Asia – Pacific Science, Technology and Academia Advisory Group หรือ APSTAAG) โดยมีวาระ 2 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562

เผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จ

สสน. ร่วมกับ UNDRR จัดทำหนังสือสรุปความสำเร็จการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการและบดความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านน้ำเพื่อเผยแพร่ในประเทศไทยและในระดับโล

หนังสือ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากลิงค์ด้านล่าง

ข่าวอื่นๆ