รวท. ลงพื้นที่แก้จน : บ้านลิ่มทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ตรวจเยี่ยมเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำชุมชน ด้วย วทน.


 

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2561 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำชุมชน ด้วย วทน. ณ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” บ้านลิ่มทอง ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ และตรวจเยี่ยมการดำเนินงานประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่

ชุมชนบ้านลิ่มทอง ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เคยประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำหลากมานานกว่า 40 ปี ในฤดูแล้งชุมชนขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร ส่วนฤดูฝนเกิดน้ำหลากสร้างความเสียหายให้บ้านเรือน ถนน และผลผลิตทางการเกษตร รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เกิดเป็นปัญหาหนี้สินและคนในชุมชนละทิ้งถิ่นฐาน ต่อมา ในปี พ.ศ. 2549 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชน โดยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ การสำรวจและเก็บข้อมูลภูมิสารสนเทศในพื้นที่ การใช้แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) การจัดทำแผนที่น้ำ การวัดระดับความสูงของพื้นที่ เป็นต้น นำมาใช้วิเคราะห์ วางแนวทางแก้ไขปัญหา และพัฒนาการบริหารจัดการน้ำชุมชน โดยทำคลองดักน้ำหลากระยะทางกว่า 56 กิโลเมตร เชื่อมต่อสระแก้มลิง และสระน้ำประจำไร่นากว่า 100 สระ ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นรวมมากกว่า 1.6 ล้านลูกบาศก์เมตร ปรับโครงสร้างถนนให้เป็นที่รับน้ำหรือ “ถนนน้ำเดิน” แล้วส่งไปยังสระแก้มลิง รวมทั้ง ปรับเปลี่ยนแนวคิดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ เพิ่มความหลากหลายด้านอาหาร สร้างอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ชาวบ้านกลับคืนถิ่นฐาน ชุมชนอยู่ดีกินดีมีความสุขบนวิถีแห่งความพอเพียงได้อย่างยั่งยืน

   

   

ความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริของชุมชนบ้านลิ่มทอง สามารถเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้ได้ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงจัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” เมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มาเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ร่วมกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำหลากในพื้นที่จนเป็นผลสำเร็จ และสามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป

   

   

โอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เยี่ยมชมจุดศึกษาดูงานในพื้นที่บ้านลิ่มทอง-บ้านโคกพลวง จำนวน 5 จุด ได้แก่

จุดที่ 1 ถนนน้ำเดิน ชุมชนปรับโครงสร้างถนนเดิมที่มีน้ำท่วมหลากเป็นประจำ
ทุกปี ทำหน้าที่เป็นทางน้ำ รับน้ำ และช่วยระบายน้ำท่วมหลากไปสู่สระกักเก็บน้ำ หรือสระแก้มลิงที่อยู่ปลายทาง
ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมเข้าบ้านเรือน และพื้นที่เกษตร อีกทั้งสามารถเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำสำรองไปพร้อมกัน

   

   

จุดที่ 2 แปลงทฤษฎีใหม่ สร้างรายได้ การจัดรูปที่ดิน แบ่งพื้นที่แหล่งน้ำ พื้นที่ทำเกษตร และวางแผนการผลิต ทำนาปีในฤดูฝน ปลูกพืชใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง เป็นผลให้รายจ่ายลดลง มีรายได้เพิ่มขึ้น ใช้น้ำอย่างพอเพียงได้ตลอดทั้งปี เกิดตัวอย่างทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่วมคิดร่วมผลิต ร่วมกันสลับการเพาะปลูก เพื่อกระจายผลผลิตและร่วมขาย ครัวเรือนสามารถวางแผนชีวิตได้ในระยะยาว

   

   

จุดที่ 3 สถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ สสนก. ได้พัฒนาระบบโทรมาตรเพื่อตรวจวัดข้อมูลระยะไกล มีขนาดเล็ก และติดตั้งง่าย สามารถวัดระดับน้ำ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ ความเข้มแสง ความเร็วลม และเชื่อมโยงข้อมูลอัตโนมัติทันทีผ่านระบบรับส่งข้อมูลของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งแสดงผลข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ www.thaiwater.net และ Mobile Application “ThaiWater” เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยง่าย มีข้อมูลเพียงพอต่อการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และสามารถใช้งานข้อมูลทรัพยากรน้ำด้านต่างๆ บริหารจัดการน้ำชุมชนด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   

   

จุดที่ 4 ระบบกักเก็บน้ำและกระกระจายน้ำของหนองทองลิ่ม ในปี 2550 ชุมชนบ้านลิ่มทองได้รับการสนับสนุนจากกรมชลประทาน หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 52 มูลนิธิโคคา-โคลา และมูลนิธิวิเทศพัฒนา แก้ปัญหาน้ำด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริระบบอ่างพวงมาประยุกต์ใช้เป็นระบบสระพวง เริ่มจากชุมชนสละที่ดินส่วนตัว
ทำคลองดักน้ำหลาก และขุดสระน้ำแก้มลิงเชื่อมต่อคลองเพื่อเก็บสำรองน้ำ ก่อนส่งต่อไปที่สระน้ำประจำไร่นา
ผ่านคลองซอยที่ขุดเพิ่ม เกิดรูปแบบคลองดักน้ำหลากและสระพวง ที่เป็นทั้งระบบกักเก็บน้ำและกระจายน้ำ
ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำทำการเกษตร หลังจากนั้นชุมชนบ้านลิ่มทองยังได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคลา ดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

   

   

จุดที่ 5 สวนป่าชุมชน ชุมชนร่วมกันดูแลรักษาป่าชุมชน ด้วยการปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง ประกอบด้วยไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ ตามหลักวิชาการ  ปัจจุบันสวนป่าชุมชนได้รับการปลูกต้นไม้และบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นเป็น 67 ไร่ มีพันธุ์พืชและสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่าป่าแห่งนี้เป็นแหล่งทรัพยากรและแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่สำคัญของคนในและชุมชนอื่น ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมีกฎระเบียบของชุมชนให้ยึดถือปฏิบัติร่วมกันอย่างเคร่งครัด ทำให้เกิดป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์จนถึงปัจจุบัน ผลผลิตจากป่าชุมชนยังช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สิน และเพิ่มความมั่นคงด้านเศรษฐกิจชุมชน

 

ชุมชนบ้านลิ่มทอง อยู่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 จังหวัดยากจนที่สุดของประเทศไทย สามารถรอดพ้นจากความยากจนด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันคนในชุมชนหมดหนี้สิน รายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 21 เท่า และขยายผลความสำเร็จจาก
1 หมู่บ้าน พื้นที่ 3,700 ไร่ เป็น 9 ตำบล พื้นที่กว่า 196
,000 ไร่ เป็นพิสูจน์การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ และเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ สามารถนำพาชุมชนรอดพ้นวิกฤต น้ำแล้ง น้ำหลาก เกิดความมั่นคงด้านน้ำ ด้านผลผลิต ด้านสังคมและเศรษฐกิจชุมชน พร้อมทั้งสามารถเผยแพร่เพื่อเป็นต้นแบบการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป