ทิศทาง สสนก. กับ ผอ. คนใหม่ ‘ดร.สุทัศน์ วีสกุล’


เปิดตัว…ผู้อำนวยการคนใหม่ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนา รวบรวมเชื่อมโยง บูรณาการและวิเคราะห์ข้อมูลน้ำและภูมิอากาศ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาระบบ “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ” เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของประเทศ

“ดร.สุทัศน์ วีสกุล” ผู้อำนวยการ สสนก. ซึ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา บอกว่า จะมีการสานต่อภารกิจการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่มาตรวจเยี่ยมคลังข้อมูลน้ำฯ ของ สสนก. เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2560 ที่ต้องการให้คลังข้อมูลน้ำฯ เป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลในระดับประเทศ มีการจัดทำข้อมูลหลายมิติ เป็นรายจังหวัด รายภาค รวมถึงขยายผลการใช้งานไปสู่ประชาชนและขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน

ทั้งนี้นโยบายการทำงานจะยังคงรักษามาตรฐาน ตามที่ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการคนก่อนวางไว้ เน้นการทำงานเป็นทีม และเพิ่มบรรยากาศในการทำงานที่ดี ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เรื่องค่าตอบแทน ซึ่ง สสนก. อยู่ระหว่างการก่อสร้างสำนักงานใหม่ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ และย้ายสำนักงานรวมถึงคลังข้อมูลน้ำฯ ไปที่ทำการใหม่ได้ในต้นปีหน้า

สำหรับโครงการเด่นๆ ของ สสนก. ที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดร.สุทัศน์ บอกว่า จะมีการขยายเทคโนโลยีการสำรวจและตรวจวัดโดยใช้ Global Navigation Satellite System (GNSS) ที่มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเก็บข้อมูลทุก 1 วินาที ให้ข้อมูลเชิงพื้นที่และแผนที่ที่ถูกต้องแม่นยำ ทันสมัย และประหยัดค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 45%

มีการขยายระบบสนับสนุนการตัดสินใจการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งในภาพรวมที่จะมีระบบติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังได้ตลอด 24 ชั่วโมง แจ้งเตือนและวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที ส่วนในระดับพื้นที่จะมีการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำอัตโนมัติแบบทุ่นลอยในสระน้ำขนาดเล็ก เพื่อช่วยวางแผนเรื่องวิกฤติภัยแล้ง

นอกจากนี้จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพระบบคาดการณ์สภาพอากาศ เพื่อปรับปรุงการคาดการณ์แบบเรียลไทม์ มีการพัฒนาภูมิสารสนเทศน้ำระดับตำบลและแม่ข่ายการจัดการน้ำในระดับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ด้านการพัฒนาคลังข้อมูลน้ำฯ จะมีการขยายการใช้งานไปสู่การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด สนับสนุนข้อมูลในการทำการเกษตร ซึ่งนำร่องไปแล้วที่ จ.แพร่ พะเยา และพิษณุโลก และจะมีการขยายไปสู่ระดับภาค รวมทั้งขยายไปสู่การจัดตั้ง “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งอาเซียน” ซึ่ง ดร.สุทัศน์ บอกว่าปัจจุบันที่ประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้อนุมัติโครงการให้อยู่ภายในคณะอนุกรรมการอาเซียนว่าด้วยไมโครอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เรียบร้อยแล้ว

สำหรับการประเมินสถานการณ์น้ำในปีนี้ ผอ.สสนก. ย้ำว่า ไม่เหมือนปี 2554 แน่นอน แต่จะเหมือนปี 2542 ซึ่งฝนมาเร็ว และตกมากกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อยคือ 1,600 มิลลิเมตร (ค่าเฉลี่ย 1,400 มม.) โดยเดือน ก.ค.ฝนจะลดลง และตกหนักอีกครั้งในเดือน ส.ค. ส่วนปลายปี คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี.. ปีนี้การบริหารจัดการน้ำคงต้องเน้นการเก็บและใช้น้ำอย่างประหยัด หากจะท่วมก็คือท่วมปกติตามฤดูกาล

ทิ้งท้าย…กับความรู้สึกในการเข้ารับตำแหน่งใหม่ จาก ดร.สุทัศน์ ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำมากว่า 30 ปี และเคยเป็นรองผู้อำนวยการ สสนก. มาก่อน

“ผมโชคดีที่เข้ามาในช่วง สสนก. เข้มแข็ง ทำให้ไม่ต้องกังวลมาก และ สสนก. ก็ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอกแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อคือการรักษามาตรฐานและบริหารจัดการคนที่มีอยู่ ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงให้สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

 

Presentation1