คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งอาเซียน


จาก “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ” (NHC) ที่อาจเรียกได้ว่าดีที่สุดในอาเซียน วันนี้กำลังขยายผลและก้าวไปสู่การจัดตั้ง “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งอาเซียน” (AHC) และถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่จะมีการจัดตั้งคลังข้อมูลน้ำฯ ในระดับภูมิภาค

เพราะว่า “น้ำ” คือเบื้องหลังความสำเร็จของการทำอาชีพเกษตรกรรม วัตถุดิบสำคัญของเป้าหมายการจะเป็น “ครัวโลก”ของประเทศในอาเซียน ความมั่นคงทางน้ำถือเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ จะต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่ใช่แค่ในประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป

“ดร.สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร” ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ มาจากการที่ สสนก.เก็บข้อมูลน้ำของประเทศไทย แล้วพบว่าหากจะบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพแล้ว จะต้องมีข้อมูลที่ครบสมบูรณ์ ซึ่งในเรื่องของสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องของภูมิภาคไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว

โดยในช่วงที่ประเทศในอาเซียน ประสบปัญหาใหญ่เรื่องน้ำ ได้มีการเริ่มเจรจาแบบทวิภาคีขึ้น และต่อเนื่องมาจนถึงเรื่องของการรับมือกับภัยพิบัติ รวมถึงมีการผลักดันความร่วมมือนี้ให้อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยเป็น 1 ใน 8 ของข้อริเริ่มกระบี่ (Krabi Initiative) ซึ่งนอกจากจะเชื่อมโยงด้านข้อมูลแล้ว ยังเชื่อมโยงถึงนักวิจัยและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ อีกด้วย

และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สสนก. ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดตั้งคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งอาเซียนขึ้นเป็นครั้งแรก ภายในงาน “ASEAN Next 2017” ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) และศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) เข้าร่วมประชุม

S__4825497

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นพ้องในการร่วมกันแบ่งปันข้อมูลด้านสารสนเทศทรัพยากรน้ำ การสร้างศักยภาพบุคลากรในอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การ ถ่ายทอดตัวอย่างความสำเร็จการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รวมทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติโดยเริ่มจากโครงการผู้ขนาดเล็ก ซึ่ง สสนก.พร้อมที่จะเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อบริหารจัดการน้ำสำหรับภูมิภาคอาเซียน

และโครงการนี้จะเริ่มนับหนึ่งทันที หลังจากการนำกรอบความร่วมมือที่มีมติร่วมกันในครั้งนี้ ผ่านให้มีการรับรองอีกครั้งในที่ประชุมอาเซียนครอสที่ประเทศบรูไน ประมาณเดือนพฤษภาคมนี้

ดร.สุรเจตส์ บอกว่า การรวมกลุ่มระดับภูมิภาคแบบนี้ คิดว่ายังไม่เคยมีมาก่อน เพราะเดิมเรื่องน้ำถูกมองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ จึงทำแต่ในประเทศของตัวเอง แต่ปัจจุบันเริ่มมีการเข้าถึงข้อมูลได้ทั่วโลก การที่เรามีภูมิอากาศที่คล้ายกัน พื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นเกษตรกรรมเหมือนกัน ถือว่ามีโจทย์และจำเลยเดียวกัน จึงน่าจะมาร่วมมือกันได้ เพราะการสู้กับธรรมชาติยังไงก็ไม่ชนะ การรวมกันน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี

S__4825505

ทั้งนี้ประเทศไทยจะใช้ “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ” เป็นต้นแบบไปสู่ “คลังข้อมูลน้ำและ ภูมิอากาศแห่ง อาเซียน” ทำให้ฐานข้อมูลใหญ่ขึ้น และใช้ประโยชน์ร่วมกัน บางประเทศไม่มีระบบพยากรณ์แต่ต้องเผชิญภัยพิบัติบ่อย ๆ หากไทยมีความพร้อมมากกว่าก็จะสามารถปล่อยข้อมูลการคาดการณ์ให้ได้

Untitled-3-01

คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ประเทศไทย

คาดหวังอนาคตถ้ามีข้อมูลสมบูรณ์ 10-20 ปี ข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเป็นโจทย์ใหญ่ ข้อมูลที่สมบูรณ์ในพื้นที่จริงจะช่วยให้เราสามารถคาดการณ์และรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และไม่ใช่แค่ข้อมูล แต่ยังมีเรื่องของการวิเคราะห์ ซึ่งแต่ละประเทศมีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกันอีกด้วย

ที่มา : เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 14 มี.ค. 2560 (กรอบบ่าย)