พระอัจฉริยภาพ ทฤษฎี”ในหลวง” “จัดการน้ำชุมชน”


สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศให้เข้าถึงประชาชน และร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาแหล่งน้ำให้เกิดความยั่งยืน

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการ สสนก. ซึ่งมีโอกาสเข้าไปถวายงานและตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชหลายหน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี หรือกระทั่งถวายงานข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ เมื่อครั้งประทับอยู่ที่วังไกลกังวล รวมทั้งเมื่อเข้ารับการรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราช ทั้งที่ควรจะเป็นช่วงการพักผ่อนพระวรกาย แต่พระองค์ก็ยังทรงงานตลอด

แม้ในช่วงที่ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชตลอดหลายปี พระองค์มีรับสั่งให้ทาง สสนก.นำระบบ Weather 901 ไปติดตั้งให้ถึงห้องทรงงานส่วนพระองค์ และก่อนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คณะทำงานของ สสนก. เข้าเฝ้าถึง 2 ครั้ง พร้อมทั้งพระราชทานแนวทางป้องกัน เนื่องจากจะมีน้ำมากอาจเกิดความเสียหายได้ พระองค์มีพระราชดำริให้รวบรวมและเเลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสภาพอากาศทั้งด้านน้ำ ฝน พายุ ซึ่ง สสนก.ได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า Weather 901 เพื่อส่งข้อมูลสภาพภูมิอากาศทั้งในและต่างประเทศ ไปทูลเกล้าฯถวายเพื่อทอดพระเนตรด้วยระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทรงติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน และทิศทางลมได้โดยตรง ซึ่งติดตั้งเมื่อปี 2545 โดยพระองค์ทรงใช้ข้อมูลเหล่านี้ส่งไปยังรัฐบาลและกรมชลประทาน เพื่อเตรียมการวางแผนรับมือช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีนายรอยลกล่าว

ในหลวงกับอ.รอลยล2
ผู้อำนวยการ สสนก.บอกว่า เรื่องหนึ่งที่ทำให้ตัวเองต้องจดจำเสมอมาจนถึงวันนี้ คือเมื่อปี 2544 พระองค์ท่านมีรับสั่งให้รวบรวมข้อมูลพายุที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่ปี 2492 รวบรวมเสร็จก็ส่งถวายท่าน ข้อมูลที่ส่งถวายก็เป็นระบบออนไลน์ 2 วันต่อมา ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ในสำนักพระราชวัง

“เสียงเจ้าหน้าที่ที่โทรศัพท์มาบอกว่า พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสให้ถามว่า คุณรอยลพายุหายไปไหน 2 ลูก แล้วอีกลูกใส่ข้อมูลไม่ครบ อันนี้เป็นบทเรียนที่ผมได้รับว่าทรงรวบรวม ทรงตรวจทรงวินิจฉัยด้วยพระองค์เองโดยตลอด พระองค์มีฐานข้อมูลในเรื่องนี้อย่างดีงานหรือข้อมูลอะไรๆ ที่เจ้าหน้าที่ถวายเข้าไปนั้นพระองค์ทรงตรวจเองทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2492 ประเทศไทยมีพายุเข้ามาประมาณร้อยกว่าลูก ผมจำไม่ได้ทั้งหมด แต่พระองค์ทราบทั้งหมด”

นายรอยลกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการน้ำชุมชนอย่างยิ่ง เพราะ 80% ของประเทศนั้นเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ทาง สสนก. มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าถวายรายงานเรื่องการจัดการน้ำชุมชนเป็นประจำทุกปี มีสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างจะทรงเป็นกังวลก็คือ เมื่อจัดการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่เสร็จแล้ว ก็จะมีการเอาไปสรุปเป็นทฤษฎีตายตัว แล้วนำทฤษฎีดังกล่าวไปปฏิบัติเหมือนกันทั้งประเทศ

ในหลวงกับอ.รอยล1

“ทรงมีรับสั่งย้ำเสมอว่าอย่าเอาความสำเร็จเรื่องการแก้ปัญหาการจัดการน้ำของที่ใดที่หนึ่งไปปฏิบัติในพื้นที่อื่นๆ พวกเรารับเรื่องนี้ใส่เกล้าใส่กระหม่อมเสมอมา พระองค์ทรงสอนว่าการแก้ปัญหาเรื่องน้ำนั้นให้อาศัยแค่หลักการก็พอ นั่นคือทำแผนที่น้ำในแต่ละชุมชน เพราะแต่ละพื้นที่มีสิ่งแวดล้อมและองค์ประกอบไม่เหมือนกัน แต่จะมีตัวช่วยหลักๆ คือ แก้มลิง สระพวง ซึ่งเอาไปปรับใช้ตามความเหมาะสม”

การมีโอกาสถวายงานรับใช้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อะไรคือความประทับใจที่สุด นายรอยลบอกว่า ประทับใจในทุกเรื่อง พระองค์ท่านทรงงานทุกเรื่องด้วยความใส่พระทัยและจริงจัง เวลาเข้าเฝ้าฯนั้น ตลอดระยะเวลากว่า 4 ชั่วโมง จะมีทั้งรับสั่งสอบถามรายละเอียดต่างๆ และสอนการทำงานตลอด โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับชาวบ้าน ส่วนรายงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรและข้อมูลนั้น ทรงอ่านและตรวจแก้ไขด้วยพระองค์เองทุกเรื่อง และย้ำเสมอว่า เมื่อเราทำงานก็ต้องให้งานนั้นเป็นผลขึ้นมา เราจึงต้องปฏิบัติงานให้เต็มที่จริงจัง

ในหลวงกับอ.รอยล5

 

“ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ตามเสด็จ หรือเข้าเฝ้าฯพระองค์ท่าน พระองค์จะทรงสอนวิธีคิด วิเคราะห์ วิธีการทำงานเสมอ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับประชาชน ว่าจะต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ก่อน เช่น เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ต้องใช้แผนที่ตรวจสอบความจริงในพื้นที่ บวกกับการสอบถามข้อมูลจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ให้พวกเขาเล่าให้ฟังว่าเกิดปัญหาอะไรบ้าง ได้ข้อมูลมาแล้ว ใช้เครื่องมือที่มีอยู่อย่างเหมาะสม การแก้ปัญหาก็จะทำง่ายขึ้น ที่สำคัญคืออย่าสรุปพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งออกมาเป็นทฤษฎีแล้วเอาทฤษฎีนั้นไปใช้ในพื้นที่อื่น เพราะอาจจะไม่ได้ผล เนื่องจากแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกัน ทฤษฎีของพระองค์ คือ อย่ายึดถือทฤษฎีนั่นเอง”

 

ตลอด 19 ปีที่ สสนก.ก่อตั้งขึ้นได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปปรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งมีผลต่อปริมาณฝนและอุณหภูมิ พระองค์ทรงแนะนำให้มองทุกปัญหาอย่างรอบด้าน ทุกมิติ และดีที่สุด ให้คิดใหญ่แต่ทำเล็ก เริ่มต้นจากชุมชน

ปัจจุบัน สสนก.มีเครือข่ายจัดการน้ำกว่า 600 ชุมชน ซึ่งล้วนประสบความสำเร็จเกิดประโยชน์กับชาวบ้านในพื้นที่และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ นำไปปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมด้วย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 23 ตุลาคม 2559