โครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

12/11/2019

การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สสน. ได้ดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถึง ปัจจุบัน เริ่มต้นจาก 2 ชุมชน เพิ่มขึ้นเป็น 60 ชุมชนแกนนำ ที่สามารถบริหารจัดการน้ำชุมชนด้วยตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น รวมทั้ง เป็นต้นแบบพัฒนาและขยายผลเป็นเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบัน ขยายผลรวม 1,573 หมู่บ้าน 60 ชุมชนแกนนำ

ได้ดำเนินงานน้อมนำแนวพระราชดำริ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือสำรวจตนเอง เก็บข้อมูล จัดทำแผนที่ ผังน้ำ สมดุลน้ำ และแผนพัฒนาแหล่งน้ำ เชื่อมโยงข้อมูล ผังงาน เข้ากับพื้นที่จริง ให้สามารถเข้าใจบริบทของพื้นที่ และแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม โดย สสน. ทำหน้าที่ ให้คำปรึกษา ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง อำนวยความสะดวกรวมทั้ง เชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ประชาชน และเอกชน

เกิดความมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ ร่วมกับท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชนมีความเป็นเจ้าของ เกิดรูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจน พึ่งพาตัวเองได้ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ส่งผลให้เกิดความมั่นคงในทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และชีวิตความเป็นอยู่

โครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สสน. ได้ดำเนินงานโครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ 20 แม่ข่าย 40 ชุมชนแกนนำ รวมเป็น 60 ชุมชนแกนนำ ขยายผลได้ 872 หมู่บ้าน รวมเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 932 หมู่บ้าน เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เป็นแม่ข่ายที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน สามารถพัฒนาโครงสร้างน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภค-บริโภค บรรเทาปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น บริหารจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตได้ด้วยตนเอง มีความมั่นคงด้านน้ำ เพื่อการเกษตร อุปโภค-บริโภค และความมั่นคงด้านอาหาร เกิดเป็นต้นแบบความสำเร็จในการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำชุมชน

สรุปผลสำเร็จการดำเนินงาน

ด้านน้ำ

  • สรุปผลสำเร็จที่ชุมชนได้รับจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้
  • 60 ชุมชนแกนนำเกิดข้อมูลแหล่งน้ำ แผนที่ ผังน้ำ ที่จะสามารถนำมาใช้วิเคราะห์และวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำระดับชุมชนและระดับท้องถิ่น
  • เกิดความมั่นคงด้านน้ำ สามารถลดอุทกภัยและภัยแล้ง 63,716 ครัวเรือน 305,328 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำสำรอง 11 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มผลิตผลการเกษตรฤดูแล้ง 733 ล้านบาท 18,418 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 1.60 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำสำรองเพิ่มขึ้นสำหรับใช้ยามฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้ง รวมประมาณ 54 ล้าน ลบ.ม.

ตัวอย่างความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเอง ชุมชนดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี สำรวจพื้นที่จัดทำข้อมูลแหล่งน้ำ วิเคราะห์ปัญหาน้ำในพื้นที่ พบว่า ปริมาณน้ำฝนเพียงพอ แต่ขาดแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้ประสบปัญหาน้ำแล้ง จึงดำเนินงานขุดสระน้ำประจำแปลงในพื้นที่ตนเอง สำรองน้ำเพื่อการเกษตร เกษตรกรปรับวิถีการเพาะปลูกจากปลูกไม้ดอกไม้ประดับมาเป็นปลูกพืชผสมผสาน เพิ่มพืชอาหารในแปลง ควบคู่กับบริหารจัดการน้ำในแปลงเกษตรอย่างเหมาะสม มีต้นทุนน้ำเพียงพอ มีผลผลิตตลอดทั้งปี ปัจจุบันชุมชนดงขี้เหล็กมีสระน้ำประจำแปลง 1,112 สระ ปริมาณน้ำสำรองมากกว่า 121,600 ลูกบาศก์เมตร เกิดความมั่นคงทางน้ำและอาหารอย่างยั่งยืน

ด้านอาหาร

เกิดความมั่นคงด้านอาหาร มีการวางแผนการใช้น้ำอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการเพาะปลูกพืชแบบผสมสาน ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำและอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรตลอดปี ลดรายจ่ายปีละประมาณ 36,900 บาท/ครัวเรือน สร้างรายได้ปีละประมาณ 156,300 บาท/ครัวเรือน (จากข้อมูลตัวอย่างแปลง จำนวนร้อยละ 15 ของครัวเรือนที่ดำเนินงาน) มูลค่าผลผลิตจากป่าปีละประมาณ 2,190,000 บาท (ข้อมูล 5 ป่าชุมชน 333 ไร่)

ด้านพลังงาน

การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำในชุมชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการพึ่งพาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ช่วยประหยัดการใช้พลังงาน เช่น

  • ลดพลังงานไฟฟ้าในระบบสูบน้ำเข้าหอเก็บน้ำอุปโภค จากลำคลองสาขาแม่น้ำปราจีนบุรี ชุมชนดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 50% เป็นเงิน 24,000 บาท/ปี สำหรับน้ำเพื่ออุปโภค 300 ครัวเรือน
  • ลดพลังงานไฟฟ้าระบบสูบน้ำจากแม่น้ำชี ชุมชนหนองโน ต.หนองไผ่ อ.แก่งคร้อ จ.ชัยภูมิ ลดค่าใช้จ่ายจากการสูบน้ำ 5,400 บาท/ปี เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องสูบน้ำแบบเครื่องยนต์เบนซินขนาดเล็ก

งานอื่นๆ