ปี 2564 : โครงการพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาการข้อมูลทรัพยากรน้ำจากคลังข้อมูลขนาดใหญ่

22/02/2023

ดำเนินงานวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ด้วยการประยุกต์ใช้งานวิทยาการข้อมูลสนับสนุนการประเมิน ติดตาม และคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เร่งสร้างฐานความรู้ ฐานงานวิจัย ความร่วมมือ และพัฒนาบุคลากรด้านงานวิทยาการข้อมูลทรัพยากรน้ำ ให้เกิดการประยุกต์ใช้ข้อมูล นำไปสู่การสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศได้ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2564 ได้ดำเนินงานดังนี้

การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการน้ำ

รวบรวมข้อมูลฝน อุณหภูมิ ระดับน้ำ จากสถานีโทรมาตรของหน่วยงานภายในคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เพื่อวิเคราะห์รูปแบบปัญหาที่สามารถบริหารจัดการแบบทันที (Near Real-Time) หรือ แบบจัดการภายหลัง และ ออกแบบและสร้างฐานข้อมูลที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพข้อมูล เพื่อทำให้เกิดข้อมูลที่มีคุณภาพในการนำไปใช้ต่อในระบบบริหารจัดการน้ำต่างๆ นอกจากนั้นยังได้พัฒนาวิธีการวิเคราะห์และแสดงผลค่าสถิติ 30 ปี (พ.ศ. 2534 – 2563) ของฝนเชิงพื้นที่รายจังหวัดรายเดือนและรายปี ให้ทราบความผันแปรของปริมาณฝนแต่ละจังหวัดเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ

การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำวิธีการควบคุมคุณภาพข้อมูลไอโซโทเสถียรของน้ำฝน

รวบข้อมูลไอโซโทปเสถียรของน้ำฝน (ปี พ.ศ. 2562-2563) ตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพข้อมูลเบื้องต้นและเผยแพร่ผ่านระบบสาธารณะและผู้ใช้สามารถนำข้อมูลไปใช้งานหรือวิเคราะห์ในเชิงลึกต่อไปได้

การวิเคราะห์ข้อมูลภาพเพื่อติดตามปริมาณน้ำฝนและคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย

ออกแบบและพัฒนาอัลกอริทึม Machine Learning รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมเพื่อหาพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยจากข้อมูลบันทึกเหตุการณ์ในอดีต เป็นการนำข้อมูลพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นที่ถูกบันทึกไว้ในอดีตในรูปแบบ Unstructured data มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ได้จากการประมวลผลข้อมูลภาพเรดาร์ โดยการอ่านค่าสีและนำค่าสีที่ได้มาเข้าโปรแกรมการคำนวณหาปริมาณน้ำฝนจากภาพเรดาร์ที่ได้พัฒนาแล้วเสร็จเมื่อปี 2563 การวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้นนี้ใช้เพื่อติดตามสถานการณ์และคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น

ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพเพื่อติดตามปริมาณน้ำฝนและคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยโดยนำภาพเรดาร์ฝนจาก 20 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2564 มาเป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการทดสอบการวิเคราะห์ พบว่าได้ค่าเฉลี่ยความแม่นยำของการวิเคราะห์ อยู่ที่ร้อยละ 73.42 โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีค่าเฉลี่ยความแม่นยำมากที่สุดคือร้อยละ 91.2 และเดือนกรกฎาคม 2563 มีค่าเฉลี่ยความแม่นยำน้อยที่สุดคือร้อยละ 52.17 ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์จะต้องมีการปรับปรุงปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ช่วงเวลา ปริมาณข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ เป็นต้น เพื่อนำมาพัฒนาอัลกอริทึมสำหรับการวิเคราะห์ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

งานอื่นๆ