ปี 2563 : โครงการส่งเสริม สนับสนุน และขยายผลการดำเนินงาน สนองแนวพระราชดำริ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

21/02/2023

ภายใต้โครงการส่งเสริม สนับสนุน และขยายผลการดำเนินงานสนองแนวพระราชดำริ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในปี 2563 สสน. ได้สนับสนุนการดำเนินงาน “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” สานต่อพระบรมราโชบาย สืบสาน รักษา ต่อยอด

โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เกิดขึ้นจากความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงทราบถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ การดำเนินงาน

โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ได้สืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่ออกจากป่ามาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในฐานะคณะทำงานระบบข้อมูลและระบบบริหารจัดการ มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบข้อมูล และระบบบริหารจัดการ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน เพื่อให้มีความรู้ในการใช้เทคโนโลยี GPS สำรวจเส้นทางน้ำ วางแผน ปรับปรุง ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับประชาชนทั้ง 5 จังหวัด เพื่อให้เป็นน้ำต้นทุนในการประกอบอาชีพและน้ำเพื่อการอุปโภค เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ

“โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ดำเนินงานตามแผนแม่บทสร้างความสมดุลระหว่างคนและช้างป่า

โดยแบ่งพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่

  •  พื้นที่ป่าอนุรักษ์  พัฒนาและจัดทำแหล่งน้ำและแหล่งอาหารช้างป่า

  •  พื้นที่แนวกันชน  หรือจุดพักช้าง พัฒนาและจัดทำแหล่งน้ำและแหล่งอาหารช้างป่า เพื่อล่อให้ช้างป่าเดินเข้าสู่ป่าและเพื่อตรึงช้างให้หากินห่างจากชุมชน พร้อมทั้งจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการคชานุรักษ์” เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมในการผลักดันให้ช้างเดินกลับสู่ป่า

  •  พื้นที่ชุมชน สร้างความรู้ ความเข้าใจ เรื่องพฤติกรรมช้าง พัฒนาอาชีพ และสร้างระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตือนภัย ให้แก่ชุมชน โดยปี 2562 พัฒนาศักยภาพหมู่บ้านนำร่อง ในนาม “หมู่บ้านคชานุรักษ์” 5 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ปี 2563 ขยายผลหมู่บ้านคชานุรักษ์เพิ่มเติม 3 หมู่บ้าน โดย สสน. ได้จัดอบรมการใช้เทคโนโลยี GPS ในการทำแผนที่ การทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ความรู้เรื่องการทำกองทุน และถ่ายทอดแนวทางบริหารจัดการน้ำผ่านพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จ จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ผลการดำเนินงานฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำ ในหมู่บ้านคชานุรักษ์ 

ดำเนินงานร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเอสซีจี และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

1.จังหวัดฉะเชิงเทรา พัฒนาพื้นที่แก้มลิง ปริมาณกักเก็บ 300,000 ลูกบาศก์เมตร บริเวณพื้นที่บ้านคลองมะหาด หมู่ที่ 14 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ เพื่อเป็นแหล่งสำรองน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคภายในชุมชน จำนวน 250 ครัวเรือน ปศุสัตว์ประมาณ 1,000 ตัว และเพาะปลูกหญ้าอาหารสัตว์ประมาณ 100 ไร่ พร้อมทั้งพัฒนาระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ และระบบกระจายน้ำแบบใช้น้ำน้อยในพื้นที่เกษตรแปลงรวม

2.จังหวัดชลบุรี พัฒนาระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ และระบบกระจายน้ำแบบใช้น้ำน้อยในแปลงวิสาหกิจชุมชน คนอยู่กับป่า บ้านเขาใหญ่ หมู่ 4 ตำบลพลวงทอง อำเภอบ่อทอง พื้นที่ประมาณ 70 ไร่ สมาชิก 25 ครัวเรือน ดำเนินงานปลูกพืชอาหารที่ช้างไม่ชอบ เพื่อเป็นรายได้ให้กลุ่มวิสาหกิจ

3.จังหวัดระยอง พัฒนาระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ และระบบกระจายน้ำแบบใช้น้ำน้อยในแปลงวิสาหกิจชุมชนบ้านเขาจันทร์ หมู่ 7 ตำบลห้วยทับมอญ อำเภอเขาชะเมา พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ สมาชิก 30 ครัวเรือน ดำเนินงานปลูกพืชอาหารที่ช้างไม่ชอบเพื่อเป็นรายได้ให้กลุ่มวิสาหกิจ

4. จังหวัดจันทบุรี สร้างฝายกักเก็บน้ำบริเวณคลองพะวาพลู เกิดประโยชน์กับชุมชน หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว ประมาน 30 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรประมาน 300 ไร่

5.จังหวัดสระแก้ว ฟื้นฟูปรับปรุงแหล่งน้ำ เส้นทางน้ำ เสริมฝายชะลอน้ำ สร้างอาคารบังคับน้ำ พัฒนาระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ และระบบกระจายน้ำแบบใช้น้ำน้อยในแปลงสมุนไพร บริเวณสวนพฤกษศาสตร์วังน้ำเย็น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการปลูกพืชสมุนไพรของประชาชน

สสน. ได้ดำเนินงานตามหลักการทรงงานด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงด้านน้ำ และให้น้ำสร้างอาชีพแก่ชุมชนหมู่บ้านคชานุรักษ์ ชุมชนจะได้มีรายได้และมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ นำไปสู่การปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างมีส่วนร่วมต่อไป

“หมู่บ้านหนองกระทิง มีประชากรทั้งหมด 200 กว่าครัวเรือน และส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า  เมื่อหมู่บ้านหนองกระทิงได้เข้าร่วมโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ก็ได้มีการทำเกษตรแปลงรวมในพื้นที่ สปก. จำนวน 17 ไร่ และ สสน. ได้เข้ามาเสริมระบบสูบน้ำจากสระด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มากักเก็บในถังพัก และต่อระบบกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเกษตร ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างได้มีรายได้จากการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร ปัจจุบันมีสมาชิก 35 ราย รายได้เฉลี่ยต่อแปลงประมาณ 1,500 – 2,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ สสน. ยังได้อบรมการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ให้แก่ชุมชน ทำให้ชุมชนมีความรู้ด้านการเกษตรและสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้ดียิ่งขึ้น เกษตรแปลงรวมหมู่บ้านคชานุรักษ์หนองกระทิงจะเป็นต้นแบบให้หมู่บ้านเครือข่ายและหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย”

งานอื่นๆ