ปี 2561 : โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพิ่มเศรษฐกิจชุมชน

07/11/2019

สสน. ดำเนินงานโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี (2560 – 2579) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการมีน้ำอย่างยั่งยืน (Sustainable Water) ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง เพิ่มน้ำต้นทุน มีน้ำสำรองสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร สามารถวางแผนเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต และรายได้ เป็นอีกแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตก้าวไปสู่ชุมชนที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

สสน. ได้สร้างองค์ความรู้ด้าน ว และ ท ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และขยายผลการทำงานโดยสร้างและพัฒนากลุ่มเครือข่าย พัฒนาต้นแบบความสำเร็จของการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน พัฒนาภูมิสารสนเทศน้ำระดับตำบล เกิดฐานข้อมูลทรัพยากรน้ำและแผนที่น้ำระดับตำบล สนับสนุนการปฏิบัติงานระดับท้องถิ่น สามารถนำมาต่อยอดการประมวลผล ติดตาม เฝ้าระวัง รวมทั้งวิเคราะห์ และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ สนับสนุนบริหารจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต

จากผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว สสน. มีตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ ว และ ท ที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับประเทศ ท้องถิ่น และชุมชน สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้ด้วยตนเอง วิเคราะห์วางแผนพัฒนาโครงสร้างแหล่งน้ำที่เหมาะสมกับภูมิสังคม และขยายผลไปสู่ชุมชนข้างเคียง เกิดการขับเคลื่อนระดับนโยบายและสนับสนุนการใช้ข้อมูลสถานการณ์น้ำ ฐานข้อมูลระดับท้องถิ่น เกิดกลุ่มคนที่เข้มแข็ง สามารถใช้ ว และ ท จัดทำข้อมูล แผนที่ ผังน้ำ เชิงพื้นที่ที่ชุมชนสามารถนำไปวิเคราะห์จนเกิดแผนพัฒนาแหล่งน้ำของชุมชน

การขยายผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

ปัจจุบันมีตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนแกนนำจำนวน 60 ชุมชน ในพื้นที่ 19 ลุ่มน้ำ และเครือข่ายหมู่บ้านรวม 1,478 หมู่บ้าน ในปีที่ผ่านมาสามารถยกระดับรายได้เฉลี่ยของประชากรให้พ้นเส้นความยากจน (รายได้เฉลี่ยของประชากรที่พ้นเส้นความยากจน 2,667 บาท/คน/เดือน) ปริมาณน้ำสำรองสะสมมากกว่า 54 ล้าน ลบ.ม. จำนวนครัวเรือนสะสมที่สามารถลดผลกระทบจากอุทกภัยและภัยแล้งมากกว่า 353,500 ครัวเรือน มูลค่าผลผลิตเกษตรในฤดูแล้งสะสมมากกว่า 3,140 ล้านบาท

ตัวอย่างเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว ต.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว ต.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน น้ำหลาก ดินถล่ม และขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค มากกว่า 20 ปี การทำลายทรัพยากร สภาพป่าเสื่อมโทรม ระบบนิเวศถูกทำลาย เกิดไฟป่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยว และใช้สารเคมีในพื้นที่ป่าต้นน้ำ

เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว พัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ จากผลการดำเนินงานสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น รวม 3,332 ฝาย เกิดระบบกักเก็บน้ำให้ 3,027 ครัวเรือน 9,081 คน ใน 50 หมู่บ้าน ของ 6 ตำบล ร่วมกันเพาะกล้าไม้กว่า 7,000 ต้น แบ่งเป็น กล้าไม้ท้องถิ่น ร้อยละ 70 และพืชเศรษฐกิจ ร้อยละ 30 รวมทั้งเชื่อมต่อแนวกันไฟบริเวณป่าต้นน้ำร่วมกับเครือข่าย ระยะทาง รวม 200 กิโลเมตร มีเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำและเตือนภัยล่วงหน้า มีเยาวชนในเครือข่าย “ละอ่อนฮักน้ำลาว” ร่วมดำเนินงานประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้จัดเก็บข้อมูล รายงานข้อมูลน้ำ รายงานสถานการณ์น้ำ และเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ

เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว ดำเนินงานจัดทำข้อมูลพื้นฐาน เพื่อบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า อนุรักษ์และฟิ้นฟูทรัพยากรด้วยการปลูกป่า สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น และดักตะกอน ปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูกจากปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นแนวทางวนเกษตร และไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เชื่อมต่อแนวกันไฟป่าต้นน้ำ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 350,000 ไร่ ด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น และดักตะกอน 2,800 ฝาย ใน 308 ลำห้วยปลูกป่าเสริมด้วยป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ ทำวนเกษตรร้อยละ 30 ของพื้นที่เชื่อมต่อแนวกันไฟป่าต้นน้ำระยะทาง 112 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบน้ำเพื่ออุปโภคและการเกษตร สร้างฝายสำรองน้ำ ถังสำรองน้ำ และติดตั้งเครื่องกรองน้ำ และระบบกรองน้ำสำหรับอุปโภค ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการทำพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นรูปแบบวนเกษตร รวม 25 ครัวเรือน และขยายผลการทำวนเกษตร 180 ครัวเรือน ปลูกต้นไม้เสริมป่า และการดูแลรักษาเฝ้าระวัง ทำให้สภาพป่าต้นน้ำกลับคืนมาดังเดิม เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยต่อครัวเรือน 252,000 บาท/ปี และลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ เฉลี่ยครัวเรือนละ 54,000 บาท/ปี

ดำเนินงานเครือข่ายการเฝ้าระวังภัยพิบัติ โดยติดตั้งเครื่องมือติดตามสถานการณ์ เช่น เสาสัญญาณ ติดตั้งไม้วัดระดับน้ำ ติดตั้งระบบโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลเปรียบเทียบต่อเนื่อง

ติดตามสถานการณ์และเก็บข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังภัยพิบัติ

จัดทำแผนบริหารจัดการภัยพิบัติ เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนเกิดภัย : พื้นที่เครือข่ายเตรียมการวางแผนรับมือ เช่น การเฝ้าระวัง สร้างฝายชะลอน้ำ ฝายดักตะกอน ทำแนวกันไฟ ปลูกแฝก ไคร้นุ่น ไม้ยืนต้น เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน (landslide) ในฤดูฝน ระหว่างเกิดภัย : ดำเนินการทันทีเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยอพยพผู้คน ไปยังจุดรวมพล ซึ่งแต่ละพื้นที่กำหนดไว้ให้เร็วที่สุด พร้อมประสานงานไปยังศูนย์ประสานงาน และหน่วยงานต่างๆ เช่น อบต. หรือ อพปร. เพื่อขอความช่วยเหลือให้ทันเวลา และหลังเกิดภัย : ระยะฟื้นฟู เครือข่ายและคณะกรรมการ ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พร้อมส่งมอบภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เปรียบเทียบความเสียหายจากปัญหาน้ำหลากในพื้นที่เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว

ภาพเปรียบเทียบสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ช่วงน้ำหลาก

งานอื่นๆ