เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ร่วมกับ สสน. จัดอบรมเยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประยุกต์ใช้โทรมาตรและระบบสารสนเทศเพื่อเตือนภัยพิบัติระดับชุมชน

08/04/2022

วันอังคารที่ 5 เมษายน 2565 มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากร (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง “การประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติฯ และระบบสารสนเทศเพื่อการเตือนภัยพิบัติในระดับชุมชน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ภายใต้โครงการนำร่องฯ และการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ณ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)

นายฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากพระในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ที่ทรงมีพระดำริให้มูลนิธิ ฯ ดำเนินกิจกรรมการเฝ้าระวังภัยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วม โดยมูลนิธิ ฯ ได้ดำเนินโครงการนำร่องติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ฯ ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยบ่อยครั้ง ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ . ในฐานะเครือข่ายของมูลนิธิ ฯ และให้จัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ขึ้น เพื่ออบรมราษฎรอาสาสมัครในชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อการเฝ้าระวังภัย การเตือนภัย และการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชน

จากตัวอย่างความสำเร็จในการเฝ้าระวังอุทกภัยด้วยข้อมูลที่ได้จากสถานีโทรมาตรฯ ทำให้มูลนิธิฯ สามารถทำงานได้ในเชิงรุก และการทำงานร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) สามารถเฝ้าระวังอุทกภัยและภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มูลนิธิฯ จึงเห็นว่าโครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติฯ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำชุมชนเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภัยพิบัติ จะเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่มีความสนใจเรื่องเทคโนโลยี จะเป็นแรงสำคัญในการเฝ้าระวังความสูญเสียจากภัยพิบัติได้ มูลนิธิฯ จึงได้ดำเนินการโครงการนำร่องศึกษาดูงานสถานีโทรมาตรอัตโนมัติฯ และการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายให้เยาวชนมีส่วนร่วม ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปประยุกต์ใช้ และต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ของตนเอง และเป็นการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเยาวชนในการเป็นเจ้าของการจัดการป้องกันภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ รองผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และประธานคณะอนุกรรมการดำเนินโครงการนำร่องศึกษาดูงานสถานีโทรมาตรอัตโนมัติฯ และการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน กล่าวว่า กิจกรรมอบรม “การประยุกต์ใช้ระบบโทรมาตรอัตโนมัติฯ และระบบสารสนเทศเพื่อการเตือนภัยพิบัติในระดับชุมชน” เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการนำร่องศึกษาดูงานสถานีโทรมาตรอัตโนมัติฯ และการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะคัดเลือกเยาวชนในพื้นที่เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เข้าร่วมกิจกรรม โดยการอบรมครั้งแรกในวันนี้ เป็นเยาวชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ และสกลนคร ที่จะได้ร่วมเรียนรู้และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองต่อไปได้ 

การอบรมครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากพลอากาศเอกสมนึก สวัสดิ์ถึก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่

ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่จาก สสน. ผู้แทนชุมชนป่าภูถ้ำ เครือข่ายลุ่มน้ำชี จังหวัดขอนแก่น ผู้แทนชุมชนเครือข่ายลุ่มน้ำปัตตานี ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในเรื่องการประยุกต์ใช้ระบบโทรมาตรอัตโนมัติฯ การติดตามสถานการณ์น้ำและอากาศ ด้วยระบบโทรมาตรอัตโนมัติฯ และแอปพลิเคชัน ThaiWater

โดยมีเยาวชนเข้าร่วมอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) จากชุมชนเครือข่ายเตือนภัยเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดสกลนคร จำนวน 30 คน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ปริญญาบัตรวิชาชีพชั้นสูง จนถึงระดับปริญญาตรี  จากโรงเรียนแวงน้อยศึกษา วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ  โรงเรียนท่านางแนววิทยายน  มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ  วิทยาลัยบริหารธุรกิจศิขรินทร์  โรงเรียนแก้งคร้อวิทยา  โรงเรียนมารีย์แก้งคร้อวิทยา  โรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา และโรงเรียนโพนงามศึกษา โดยมีอาจารย์ประจำสถาบันการศึกษาและเครือข่ายชุมชนเป็นพี่เลี้ยง ได้แก่ ชุมชนป่าภูถ้ำ จังหวัดขอนแก่น, ชุมชนโนนแต้  ชุมชนตาดโตน  ชุมชนหนองโน ชุมชนตำบลท่ามะไฟหวาน จังหวัดชัยภูมิ, ชุมชนตำบลวาใหญ่ และเครือข่ายชุมชนตำบลวาใหญ่ จังหวัดสกลนคร

ผลของการอบรบในครั้งนี้ เยาวชนได้เรียนรู้การใช้ข้อมูลสารสนเทศจากระบบโทรมาตรอัตโนมัติฯ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและเฝ้าระวังภัยพิบัติ แนวคิดการดำเนินงานเตือนภัยพิบัติระดับชุมชน ตั้งแต่การบริหารจัดการในภาวะปกติ ก่อนเกิดภัยพิบัติ ระหว่างเกิดภัยพิบัติ และหลังเกิดภัยพิบัติ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการทำงานร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยพิบัติในพื้นที่ของตนเองต่อไปในอนาคต  

ข่าวอื่นๆ