ปี 2566 : โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่ความมั่นคงน้ำระดับชุมชน : ระยะที่ 2 มั่นคงอาหารและผลผลิต

27/02/2025

สสน. ได้ดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 – 2565 สสน. ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่ความมั่นคงน้ำระดับชุมชน ระยะที่ 1 เพื่อถ่ายทอดแนวพระราชดำริด้านน้ำ และให้ชุมชนที่ร่วมโครงการสามารถประยุกต์ใช้ วทน. เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนได้ด้วยตนเอง สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน นำไปสู่ความมั่นคงน้ำทั้งอุปโภค บริโภค และเกษตร

ในปี 2566 – 2570 สสน. ดำเนินงานโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่ความมั่นคงน้ำระดับชุมชน ในระยะที่ 2 ขยายผลเพิ่มเติมให้กับชุมชนแกนนำที่เริ่มมีความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของน้ำอุปโภค บริโภค เกษตร ขยายไปสู่การพัฒนาอาชีพ ผลผลิตทางการเกษตร และเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้ โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่ความมั่นคงน้ำ ระดับชุมชน : ระยะที่ 2 มั่นคงอาหารและผลผลิต โดยชุมชนแกนนำที่มีความมั่นคงน้ำแล้วร้อยละ 75 ขึ้นไป เป็นตัวอย่างการวางแผนใช้น้ำเพื่อทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เพิ่มอาหารและผลผลิต เป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดแลกเปลี่ยนให้ท้องที่ ท้องถิ่น และสภาเกษตรกร ยกระดับทักษะด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปสู่ความมั่นคงอาหารและผลผลิต มุ่งสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างทั่วถึง บนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนในปี 2566 ได้ต่อยอดจากโครงการเดิมระยะที่ 1 ซึ่งชุมชนได้นำความรู้มาวิเคราะห์และพัฒนาพื้นที่ให้มีน้ำมั่นคงเพียงพอสำหรับอุปโภคและทำการเกษตร ขยายผลการดำเนินงานสู่ระยะที่ 2 เพื่อยกระดับชุมชนแกนนำให้บริหารจัดการกลุ่มและวางแผนเพาะปลูกได้ผลผลิตต่อเนื่อง ปัจจุบันเกิดเครือข่ายขยายผลบริหารจัดการน้ำระดับหมู่บ้านรวม 1,837 หมู่บ้าน เกิดตัวอย่างเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ 1,664 ครัวเรือน พื้นที่ 4,593 ไร่ ลดรายจ่ายครัวเรือนกว่า 37 ล้านบาท เพิ่มรายได้ครัวเรือนกว่า 122 ล้านบาท เพิ่มผลผลิตในฤดูแล้ง 3,913 ล้านบาท ลดอุทกภัยและภัยแล้ง 4 ล้านไร่ ช่วยรัฐประหยัดค่าชดเชยมูลค่ากว่า 7,890 ล้านบาท

ตัวอย่างความสำเร็จ ชุมชนบางเคียน ตำบลบางเคียน อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์

“ต้นแบบการใช้น้ำซ้ำในแปลงนา นอกเขตชลประทาน”

ชุมชนบางเคียน ตำบลบางเคียน อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ อยู่นอกเขตชลประทาน ใช้น้ำจากคลองเกรียงไกรเป็นหลัก ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และในฤดูทำนา เนื่องจากเกษตรกรไม่มีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ ในฤดูฝนประสบปัญหาน้ำหลากและท่วมเป็นประจำทุกปี จนได้รับการประกาศเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก

ชุมชนได้ดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการจัดการน้ำ เริ่มจากฟื้นฟูและปรับปรุงคลอง 16 แห่ง และประตูควบคุมน้ำในพื้นที่ 12 จุด ในตำบลบางเคียน เกิดการบริหารจัดการน้ำเชื่อมโยงเป็นระบบ ผู้ได้รับประโยชน์ 14 หมู่บ้าน 1,866 ครัวเรือน 5,359 คน กระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรประมาณ 7,500 ไร่

ต่อมาชุมชนได้จัดทำแผนที่มาบริหารน้ำในพื้นที่นาด้วยระบบใช้น้ำซ้ำ เริ่มจากสำรวจพื้นที่หาค่าระดับความสูง จัดทำระบบสระน้ำแก้มลิงในพื้นที่ที่รับน้ำหลากล้นตลิ่งจากคลองเกรียงไกร มาเก็บสำรองในสระน้ำแก้มลิง จากนั้นใช้ระบบสูบน้ำด้วยปั๊มโซล่าเซลล์ นำน้ำจากสระแก้มลิงขึ้นไปเก็บไว้ที่หนองขี้เถ้าและหนองงิ้วซึ่งอยู่ด้านบน โดยมีประตูควบคุมระดับน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังแปลงนาชุมชนกำหนดกติการ่วมกัน โดยการแบ่งช่วงเวลาในการปลูกข้าวให้เหลื่อมกันแบ่งโซนการใช้น้ำเป็น 3 โซน ให้พื้นที่โซน 1 ปลูกก่อนจะรับน้ำก่อน จากนั้นจะส่งน้ำไปโซน 2 และ โซน 3 ต่อไปตามลำดับ

งานอื่นๆ